อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง จังหวัดพะเยาได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัดที่ ๗๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ชาวพะเยาจึงร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมืองขึ้น บริเวณสวนสาธารณะริมกว๊านพะเยา เป็นรูปปั้นสำริดความสูงเท่าครึ่งขององค์จริงในท่าประทับยืน ทรงชุดกษัตริย์สวมมงกุฎ พระหัตถ์ถือดาบอาญาสิทธิ์ หันพระพักตร์ไปทางกว๊านพะเยา ประดิษฐานบนแท่นสูง ๒.๕๐ เมตร พ่อขุนงำเมืองเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพะเยา มีคนแวะเวียนมากราบไหว้สักการะอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ตลอดวันเวลา ช่วงเทศกาลลอยกระทงจะคึกคักเป็นพิเศษ

 ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พ่อขุนงำเมืองเป็นโอรสของพ่อขุนมิ่งเมือง กษัตริย์แห่งเมืองภูกามยาวหรือพะเยาในปัจจุบัน หลังจากพระราชบิดาสวรรคต พ่อขุนงำเมืองจึงขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๑๘๐๑ จนถึง ๑๘๔๑ พ่อขุนงำเมืองเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพ เป็นยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมาก เล่ากันว่าเสด็จไปทางไหน “แดดก็บ่ฮ้อน ฝนก็บ่ฮำ” จะให้แดดออกฝนตกก็ได้ พ่อขุนงำเมืองปกครองเมืองภูกามยาวจนเจริญเป็น ๑ ใน ๓ อาณาจักรของชนเผ่าไทยแถบนี้ ซึ่งมีอาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรพะเยา พ่อขุนงำเมืองยังเป็นพระสหายร่วมสำนักศึกษากับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และต่อมาได้เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพญาเม็งราย ทั้งสามพระองค์ทรงประกอบพิธีสาบาน หลั่งพระโลหิตจากปลายนิ้วลงในจอกสุราเดียวกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู แล้วประทับหันพระปฎษฏางค์พิงกัน (อิงหลังชนกัน) ตั้งสัตยาอธิษฐานว่าจะทรงรักใคร่ปรองดองซื่อสัตย์ต่อกันชั่วชีวิต แล้วต่างก็ดื่มพระโลหิตจอกนั้น ภายหลังถึงเรียกแม่น้ำขุนภูว่า “แม่น้ำอิง”

ทุกปีในวันที่ 5 มีนาคม จะจัดพิธีสักการะบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง