วัดเหนือ ตำบลรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

Wat Nuae Rattanaburi Subdistrict, Rattanaburi District, Surin Province

ความเป็นมา

วัดเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖๔ หมู่ที่ ๒ บ้านรัตนบุรี ถนนศรีนคร ตำบลรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี จังหวัด สุรินทร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา  น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๕ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ผู้สร้างวัดเหนือสมัยนั้น มีท่านหลวงชนะ ท่านประสิทธิ์ ท่านหลวงวิชา ท่านหลวงจำเริญ ขุนเดช ขุนนรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ เดิมวัดเหนือตั้งอยู่ที่วัดป่าโพธิ์ในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ จึงย้ายมาตั้งใหม่คือ ที่ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า วัดใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดเหนือ เนื่องมาจากบริเวณที่ตั้งอยู่เหนือถนนเมืองรัตนบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๑ เมตร

อาคารเสนาสนะ

– อุโบสถ (หลังเก่า) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ 

– อุโบสถ (หลังใหม่) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ 

– วิหาร 

– กุฏิ

ปูชนียวัตถุ 

  • พระพุทธรูปปั้นลงรักปิดทอง ๑ องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๕๐เมตร ประดิษฐษนอยู่ในวิหาร มีพระนามว่า พระพุทธโคดมมุนี ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าใหญ่วัดเหนือ หรือ หลวงพ่อใหญ่วิหาร มีลักษณะเป็นศิลปะช่างเวียงจันทน์

ประวัติวิหาร

เป็นปูชนียวัตถุ เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน โครงสร้างเป็นไม้เนื้อแข็ง ได้รับการบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อ ๆ กันมาว่า วิหารหลังนี้ สร้างขึ้นประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๔๕ โดยช่างผู้ทำการก่อสร้างเป็นชาวเวียดนาม (ญวน) อุปกรณ์ที่นำมาก่อสร้างสมัยนั้น คือ ปูนเปลือกหอย ยางโบง น้ำอ้อยน้ำตาล มะขามเปียก ขี้นกอินทรี ทราย ซึ่งได้มาจากการบริจาคของชาวบ้าน พระภิกษุสามเณรร่วมกันไปเก็บกวาดหาบมาจากทุ่งกุลา ส่วนทรายพระภิกษุสามเณรร่วมกับชาวบ้านไปหาบมาจากแม่น้ำมูล แถวบ้านดงเปือย บ้านดงเค็ง ว่ากันว่าในสมัยนั้นชาวบ้านมีความสามัคคี และเลื่อมใสศรัทธาในการสร้างวัดวาอารามมาก ถือว่าการสร้างวัดวาอาราม กุฏิ วิหาร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ ได้บุญกุศลมากมายมหาศาล จนวิหารหลังนี้สำเร็จเป็นวิหารจนตราบเท่าทุกวันนี้ 

การบูรณะปฏิสังขรณ์

– บูรณะปฏิสังขรณ์ ครั้งที่๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

– บูรณะปฏิสังขรณ์ ครั้งที่๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑

ประวัติพระพุทธโคดมมุนี (พระเจ้าใหญ่วัดเหนือ)

พระเจ้าใหญ่วัดเหนือ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๕๐ เมตร สูง ๒.๕๐เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหาร มีลักษณะเป็นศิลปะล้านนา ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความเก่าแก่มีความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ โดยมีการเล่าสืบต่อกันมาว่า พระพุทธโคดมมุนี สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๙ ช่างผู้ปั้นเป็นชาวเวียดนาม (ญวน) แต่ก็มีประชาชนบางกลุ่มก็ยังเชื่อว่า พระพุทธโคดมมุนี อัญเชิญมาจากประเทศลาว สมัยหนึ่งคนไทยอพยพไปอยู่ประเทศลาว แถวจำปาศักดิ์ ตั้งหมู่บ้านขึ้นหมู่บ้านหนึ่ง แล้วสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป เพื่อให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน สมัยนั้นจำปาศักดิ์เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย เมื่อไทยเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศส คนไทยจึงอพยพกลับมาสู่มาตุภูมิบ้านเกิด แล้วอัญเชิญพระพุทธโคดมมุนี มาด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมี กองเพลโปง (ภาษาท้องถิ่นเรียกปุ่ง) โดยนำลงแพล่องมาตามลำน้ำโขง ลำน้ำชี ลำน้ำมูล ตามลำดับ มาขึ้นที่ท่ามูลบ้านดงเปือย แล้วนำเกวียนไปรับมาประดิษฐานไว้ในวิหารจนถึงปัจจุบัน

ทำเนียบการบริหารและการปกครอง

๑. พระคำ 

๒. พระจำปา

๓. พระพา

๔. พระจำปา

๕. พระสง

๖. พระศรี

๗. พระสง

๘. พระตุ้ม

๙. พระสว่าง

๑๐. พระน้อย

๑๑. พระสุข

๑๒. พระพุทธา

๑๓. พระศรี

๑๔. พระน้อย

๑๕. พระชัย

๑๖. พระทำ

๑๗. พระอธิการน้อย โพธิปญฺโญ 

๑๘. เจ้าอธิการเปล่ง อินฺทสาโร เจ้าคณะตำบลรัตนบุรี

๑๙. พระปลัดเงิน คมฺภีโร เจ้าคณะตำบลรัตนบุรี

๒๐. พระครูจักษุธรรมประจิต (ตา ยโสธโร ป.ธ.๔) พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๖๐

๒๑. พระอธิการ สมชาย โฆสิตธัมโม พ.ศ.๒๕๖๓ – ปัจจุบัน