กลับไปหน้าหลัก

วัดกลางชุมพลบุรี

ตำบลชุมพลบุรี อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์

Wat Klang Chumphon Buri Chumpon Buri Chumpon Buri District Surin Province

วัดกลางชุมพลบุรี พอที่มีผู้เฒ่าผู้แก่ บอกเล่าต่อกันมาพอจำได้ แต่ก่อนดินแดนตรงกลางหว่างลำน้ำมูลและลำพลับพลา เรียกว่า ทุ่งกุลา อำเภอชุมพลบุรี มีประวัติเป็นมายาวนานเป็นแหล่งอริยธรรมแต่โบราณมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาและพบการทำศพแบบโบราณมีอายุเป็น ๑๐๐๐ ปี หลายหมู่บ้าน เช่น มีบ้านทัพค่าย หนองไห หนองขวาง ตึกชุม ไพรขลา พรมเทพ โนนสวรรค์ กระเบื้อง ขวาวโค้ง สำโรง โนนสูง ยะวึก เมืองไผ่ เป็นต้น มีประวัติเกี่ยวกับพุทธศาสนาเคยมายังดินแดนนี้แต่พุทธกาล จนเรียกได้ว่าดินแดนสุวรรณภูมิ 

วัดกลางชุมพลบุรี แต่ก่อนตั้งอยู่บ้านทัพค่าย พ.ศ.๒๓๗๐ ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อข่าวเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏได้ททราบถึงกรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นทัพหน้าพร้อมด้วย พระยาราชนิกุล พระยากำแหง พระยารองเมือง พระยาจันทบุรี คุมไพร่พลไปทางเมืองพระตะบองขึ้นไปเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เกณฑ์เขมรป่าดงไปเป็นทัพขนาบกองทัพกรุงเทพ ได้ตามตีกองทัพลาว ใต้จำปาสักตั้งอยู่สุวรรณภูมิ  ลาวกลางเวียงจันทร์ และลาวเหนือหลวงพระบาง เรื่อยไปจนถึงเวียงจันทน์และตีเมืองเวียงจันทน์แตกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๐  

พ.ศ.๒๓๖๘ ได้เดินทัพผ่านชุมพลบุรีเห็นชัยภูมิที่เหมาะและเห็นชาวบ้านอุดมสมบูรณ์ จึงหยุดทัพหาเสบียง พร้อมกับมีวัดอยู่ในโนนที่สูงใกล้น้ำดื่มน้ำใช้ จึงเข้าไปหาเจ้าอาวาส ชื่อหลวงพ่ออิน เพื่อขออนุญาตตั้งค่ายพักทหาร ท่านก็ทรงอนุญาตให้ตั้งค่ายได้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทหารที่เดินทางมาไกล  หลังจากทำภารกิจเสร็จ ช่วงพักทหารก็เข้าไปหาท่านเพื่อขอของดีไว้ปกกันตัวตามความเชื่อของชาวพุทธ ท่านก็อนุเคราะห์ตามสมควร จนเตรียมเสบียงหาอาวุธเรียบร้อย  ก่อนเดินทางต่อไปนั้นตอนเช้าทหารก็รวมพลกันที่โนนขามด้านทิศตะวันออกวัดบ้านทัพค่ายประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งเป็น ทำเลที่กว้างใหญ่ จึงไปรวมพลที่นั้นเรียกว่าโนนขาม (ชุมพล) หัวหน้าก็คัดเอาทหารที่มีกำลังแข็งแรงแล้วเดินทางต่อไป ส่วนทหารที่อ่อนหล้าไม่สบายมีครอบครัวก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านทัพค่ายที่นั้นเอง พอทหารไปแล้วชาวบ้านโนนขามว่าบ้านชุมพล อยู่มาไม่นานชาวบ้านก็ได้ไปนิมนต์หลวงพ่อย้ายจากบ้านทัพค่ายมาอยู่บ้านชุมพล ส่วนหลวงพ่อเห็นว่าที่อยู่ปัจจุบันคับแคบ พร้อมกับวัดเดิมมีพระอยู่แล้ว  ก็เลยย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนบ้านชุมพลบุรีปัจจุบัน อยู่ทิศตะวันออกของหมู่บ้าน อยู่มาประมาณ  พ.ศ.๒๔๓๐ หลวงพ่อก็ มรณภาพ และได้นิมนต์พระถึก  อินทปญฺโญ มาอยู่ท่านก็ขยันหมันเพียร พาญาติโยมพัฒนา วัดวาอาราม โรงเรียน และเห็นว่าที่อยู่ปัจจุบันเป็นที่เหมาะแก่ทางราชการ ท่านจึงยกที่ให้ตั้งเป็นโรงพัก โรงเรียนท่านก็ได้ย้ายไปอยู่ทางทิศอิสานของหลักเมืองให้เหมาะกับตำราในการสร้างวัด

พุทธศักราช ๒๔๒๕ คนเขมรเมืองสุรินทร์ได้อพยพครอบครัวเป็นอันมาก ข้ามไปตั้งอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ มีบ้านทัพค่าย หนองไห หนองขวาง ตึกชุม ไพรขลา พรมเทพ โนนสวรรค์ กระเบื้อง ขวาวโค้ง สำโรง โนนสูง ยะวึก เมืองไผ่ เป็นต้น พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) จึงได้มีใบบอก ขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมือง ขอพระวิเศษราชา (ทองอิน) เป็นเจ้าเมือง วันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี ให้พระวิเศษราชา (นัยหนึ่งว่า หลวงราชวรินทร์ ทองอิน) เป็นพระฤทธิรณยุทธ เจ้าเมืองและโปรดเกล้า ให้ตั้งท้าวเพชรเป็นที่ปลัด ให้ท้าวกลิ่นเป็นที่ยกกระบัตร ทั้งสองคนนี้เป็นพี่ชายพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) และท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี

พ.ศ.๒๔๔๕ หลวงพ่อถึกได้ย้ายไปตั้งวัดใหม่ ที่วัดกลางชุมพลบุรี ปัจจุบัน หลวงพ่อถึก  อินฺทปญฺโญ ท่านได้นำญาติโยมสร้างวัดใหม่ โดยการได้รับที่ดินบริจาค โดยโยม ตาจันทร์  ยายแปม จิตคง พร้อมบุตรหลาน ได้บริจาคที่เพิ่มเติมในการสร้างวัด ท่านได้พาญาติโยมสร้างกุฏิไม้หลังใหญ่ นำพาพระสงฆ์ชาวบ้านไปเลื่อยไม้ในป่าดงสะทอ ไม้ตะเคียนที่กุดนำแสบ นำมาสร้างอุโบสถ ไปหาหอยในแม่น้ำมูลมาเผาทำปูนสร้างอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียญ นำพาญาติโยม สร้างสะพานไปน้ำมูลไปบ้านทุ่งวัง ท่าเรือ สร้างโรงเรียนบ้านชุมพลบุรีปัจจุบัน ท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง มีลูกศิษย์มากมายในสมัยนั้น จนมีคนกล่าวกันว่าท่านมีคุณวิเศษ ไม่ว่าเดินตากฝนไม่เปียก เดินทางไกลทำให้ใกล้ได้ และท่านได้มีช้างไว้เดินทางไปไกลๆ เวลาไปกิจนิมนต์ และทางคณะสงฆ์ผู้ปกครองได้ขอให้ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอท่านก็ไม่รับ มอบให้หลวงพ่อเทิ่งบ้านตลุงรับไป ครั้งที่ ๒ เขาก็นิมนต์อีกท่านก็ไม่รับอีก มอบให้หลวงพ่อเกิดบ้านยางรับไปอีก ท่านรับเป็นแค่อุปัชฌาย์ ท่านจึงมีลูกศิตย์มากมาย จนถึง พ.ศ.๒๕๐๒ ท่านก็มรณภาพ  สิริอายุ ๗๙ ปี ๓๕ พรรษา

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดกลางชุมพลบุรี

รูปที่ ๑ พ.ศ.๒๓๗๐ หลวงพ่ออิน  อธิปุญฺโญ

รูปที่ ๒ พ.ศ.๒๔๑๐ หลวงพ่อฤทธิ ปญฺญาวุฑฺโฒ

รูปที่ ๒ พ.ศ.๒๔๔๕ พระอุปัชฌาย์ถึก  อินฺทปญฺโญ

รูปที่ ๓ พ.ศ.๒๕๐๓ พระมหามณี    สิริจนฺโท

รูปที่ ๔ พ.ศ.๒๕๐๔ พระสุข สุจิตฺโต

รูปที่ ๕ พ.ศ.๒๕๐๕ พระอุ่น ชุตินฺธโร

รูปที่ ๖ พ.ศ.๒๕๑๐ พระวิจิตร วิทโร

รูปที่ ๗ พ.ศ.๒๕๑๒ พระมหาคง จิตฺตทนฺโต

รูปที่ ๘ พ.ศ.๒๕๒๖ พระวันทา โสภโณ  (พระครูประจักรธรรมประเวท)

รูปที่ ๙ พ.ศ.๒๕๓๓ พระขรรค์ชัย กนฺตสีโล (พระครูมงคลสีลาจารย์)

รูปที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๔๗ พระสัมฤทธิ์  ปญฺญาธโร (พระครูสิทธิปัญญาธร)