ประวัติวัดศรีไค
วัดศรีไค ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เดิมเป็นป่าดงดิบมีต้นไม้นานาพรรณ มีสัตว์นานาชนิด เช่น เสือ กวาง ฟาน อีแก้ง อีแรง สุนัขจิ้งจอก หมาในมากมาย ตั้งอยู่ในที่ราบสูง น้ำไม่ท้วม ทิศไต้มีลำห้วย ชื่อว่า ห้วยตองแวด เป้นที่อุดมสมบูรณ์ในการทำมาหากินของชาวบ้าน ในบริเวณอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นตระไคร้ แรกเรียกกันว่าบ้านสิงไค โดยมีนายโม และนางหมัน พร้อมด้วยลูกหลานพากันมาตั้งรากฐานเป็นหมู่บ้าน แต่ไม่ปรากฏว่ามาจากที่ใด แล้วพากันจัดตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ และตั้งชื่อใหม่อีกครั้ง ชื่อว่า บ้านศรีไค เมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้นๆชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลตามประเพณีทางพระพุทธศาสนา และได้นิมนต์ พระอาจารย์สุธีร์ คนฺโชโต เป็นเจ้าอาวาส เป็นรูปแรกในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วก็พากันพัฒนาวัดมาเป็นลำดับทุกปี ตามอัตภาพตามยุคตามสมัยจนถึงปัจจุบัน จนได้เป็นที่สมบูรณ์แบบ และเจริญมากขึ้นตามลำดับจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้ โดยมีเจ้าอาวาสปกครองวัดทั้งหมด ๘ รูป
อดีตเจ้าอาวาส
ลำดับที่ ๑. พระอาจารย์สุธีร์ คนฺธโชโต ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๓
ลำดับที่ ๒. พระเฮา กนฺตสีโล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕
ลำดับที่ ๓. พระสีทนต์ ฐิตญาโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๐
ลำดับที่ ๔. พระคำมา ฐิตญาโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐
ลำดับที่ ๕. พระบุญมี สุวโจ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๖
ลำดับที่ ๖. พระจันทา สุเมโธ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๘
ลำดับที่ ๗. พระอธิการเคน ยโสธโร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง พ.ศ. ๑๕๒๓
ลำดับที่ ๘. พระครูวิโรจน์ธรรมานุศาสก์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึงปัจจุบัน
ข้อมูลวัด
รหัสวัด ๓๔๑๕๐๒๑๓๙๙๒ ตั้งอยู่ที่ศรีไค เลขที่ ๑๔๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร๐๘๓๗๒๙๒๘๗๙ พิกัดภูมิศาสตร์ วัดศรีไค ละติจูด ๑๕.๑๐๘๑๐๘,รองละติจูด ๑๐๔.๙๐๕๔๐๐
วัดศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมอุโบสถสิมก่ออิฐถือปูนหนึ่งในผลงานการสร้างของช่างนา เวียงสมศรี นายช่างสกุลญวน ที่มีผลงานการสร้างศาสนาสถาปัตยกรรมที่แพร่หลายในแถบนี้
วัดศรีไค สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๘ ไร่ ๓ งาน ๑๕ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๐๑๑ อาณาเขต ทิศเหนือ จดทางสาธารณะ ทิศใต้ จดที่ดินส่วนบุคคล ทิศตะวันออก จดที่ดินส่วนบุคคล ทิศตะวันตก จดทางสาธารณะ
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย
อุโบสถ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๓ เมตร เป็นอาคารคอนกรีต สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร เป็นอาคารไม้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖
กุฏิสงฆ์จํานวน ๔ หลัง เป็นอาคารไม้ ๔หลัง
ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๗ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒
ฌาปณสถาน ๒ หลัง
โรงครัว ๑ หลัง
วัดศรีไค ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยมีพระอธิการสุธีร์คนธโชโต เป็นผู้นําชาวบ้านในการสร้างวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
อุโบสถสิม วัดบ้านศรีไค ผลงานการสร้างของช่างนา เวียงสมศรี นายช่างสกุลญวน ได้เขียน ร่อยรอยที่ช่างนา เวียงสมศรี เขียนไว้บนซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถวัดบ้านศรีไค
ประวัติสังเขปของ
ท่านพระอาจารย์สุธีร์ “คนฺธโชโต”
————————-
ท่านพระอาจารย์สุธีร์ ฉายา “คนฺธโชโต” เกิดเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๕ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ บิดาชื่อ “โม้” มารดาชื่อ “หมั่น” ที่บ้านเก่าน้อย ตำบลคำขวาง อำเภอวารินทร์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อยังเยาว์บิดามารดาได้อพยพมาสร้างบ้านใหม่อยู่ ซึ่งได้ชื่อว่า “บ้านศรีไค” ที่ตำบลคูเมือง
ต่อมาอายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านศรีไค ๑ ปี จึงย้ายไปอยู่ที่สำนักวัดใต้ในเมืองอุบลราชธานี กับท่านอาจารย์บุตสี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ประมาณ ๔ ปี จึงกลับไปอยู่วัดบ้านศรีไค อยู่ได้ประมาณ ๕-๖ เดือน ก็ย้ายไปอยู่วัดหลวง บ้านเกียดโง่ง ตำบลนาขาม และอุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัดนั้น เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๕ โดยมี “เจ้าอธิการหมุ่ง” เป็นพระอุปัชฌายะ “พระอาจารย์ลุน” เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ “พระอาจารย์ทอง” เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาที่ “วัดผักชี” ในนครจำปาศักดิ์ ครั้นออกพรรษาแล้วได้จาริกเที่ยวธุดงค์ไปนมัสการพระบรมธาตุที่ธาตุพนม จังหวัดนครพนม แล้วขึ้นไปทางเวียงจันทร์ จนฤดูกาลเข้าพรรษา แล้วได้กลับมาจำพรรษาที่จังหวัดหนองคายประมาณ ๕ ปี ขณะที่อยู่หนองคายนี้ ท่านได้ถือโอกาสศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ มีมูลกัจจาย เป็นต้น จนชำนิชำนาญ ต่อมาได้เดินทางเข้าไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ พรรษาแรกพักที่ “วัดพระเชตุพนฯ” ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ “วัดจักรวรรดิราชาวาสฯ” ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่เป็นเวลานาน ปรากฏว่าได้เข้าสอบเปรียญในสนามหลวงครั้งหนึ่ง แต่สอบไม่ได้ จึงไม่สอบอีก คงพักจำพรรษาอยู่ที่ “วัดจักวรรดิราชาวาสฯ” เป็นเวลาถึง ๒๗ พรรษา แล้วจึงไปจำพรรษาที่ “วัดบ้านแป้ง” จังหวัดสิงห์บุรี ประมาณ ๖ พรรษา
ต่อมา พ.ศ.๒๔๖๔ จึ่งได้กลับคืนมายังภูมิลำเนาเดิม ดำเนินการสอนพระปริยัติธรรมและประกอบนวกรรมต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชาติภูมิของท่านตลอดมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้อาพาธด้วยโรคชรา จึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓ เวลา ๒๓:๔๕ นาฬิกา รวมอายุได้ ๗๙ ปี พรรษา ๕๘ พรรษา
ท่านผู้นี้โดยปกติเป็นผู้ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร มีความโอบเอื้อเจือจานแก่สหธรรมิก และพุทธบริษัททั่ว ๆ ไป ชอบจาริกไปตามส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักรไทย ได้พบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นมามาก จึงปรากฏว่าเป็นผู้รอบรู้ในขนมธรรมเนียมประเพณี อันเป็นประโยชน์แก่หน้าที่ของผู้อบรมเพื่อนสหธรรมิกทั่ว ๆ ไป เป็นอย่างมาก ในส่วนการศึกษาท่านได้ตั่งใจกอบกู้การเรียนของพระภิกษุสามเณรในชาติภูมิของท่านให้ขึ้นสู่ความเจริญโดยควรแก่ฐานะ ในด้านการก่อสร้าง ก็ได้ทำการก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นในวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก นับว่าได้บำเพ็ญกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่ชาติภูมิเป็นอันมาก ในส่วนปฏิปทาก็ตั้งอยู่ในวัตรปฏิบัติอันดีงาม เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพและเลื่อมใสของพุทธบริษัททั่วไปตลอดอายุขัยของท่านซึ่งเป็นไปตามคติแห่งธรรมดา
ประวัติพระครูวิโรจน์ธรรมานุศาสก์ เจ้าอาวาสวัดศรีไค เจ้าคณะตำบลเมืองศรีไค
สถานะเดิม
ชื่อ บุญมี จันทะเวช เชื้อชาติ ไทย สัญชาติ ไทย
บิดา นายจันทร นางนาง
เกิดวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๙๒
บ้านเลขที่ ๑๔๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
อุปสมบท
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๐ ณ วัดศรีไค ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
พระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลคุณวุฒิ
พระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการสมศรี โชติโก
พระอนุสาวนาจารย์ พระเคน ยโสธโร