ตำบลน้ำเขียว อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

Wat Arunroj Nam Khiao Subdistrict, Rattanaburi District, Surin Province

ความเป็นมา

วัดอรุณโรจน์เป็นวัดราษฎร์  มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๕๐๖ 

วัดอรุณโรจน์ บ้านอาจญา ตั้งบนเนื้อที่ราบลุ่มติดแม่น้ำ เดิมที่บริเวณนี้เป็นป่าใหญ่ที่เต็มไปด้วยต้นมะขาม ต้นมะม่วง ตั้งอยู่ริมกุดหนองน้ำขนาดใหญ่ (ข้อมูลจากคุณพ่อบุญคา สร้อยสีทา พ่อคาน สระแก้ว) ต่อมาได้มีหลวงพ่อจารย์คำ ที่มาจากตำบลโพนครก มาบุกเบิกสร้างกุฏิจำพรรษาบริเวณนี้ เมื่อหลวงพ่อจารย์คำ ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น จึงได้มีหลวงพ่ออ้าย ทองมาก ที่ย้ายมาจากบ้านหมากมี่ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์มาจำพรรษาแทน และได้มีการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ สร้างศาลาเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนา หลังจากที่หลวงพ่ออ้ายได้ลาสิกขาออกไป ได้มีหลวงพ่อใส วันทุมมา (พ่อชายพ่อสุข-พ่อลอย วันทุมมา) มาจากบ้านตาเพชร อ.สนม จ.สุรินทร์ เมื่อหลวงพ่อใส ได้ย้ายไปจำพรรษาที่อื่น ได้มีหลวงพ่อหา ได้มารักษาการแทน และเมื่อสิ้นหลวงพ่อหา ได้มีหลวงพ่อบุญจันทร์ โฆสิโณ

ซึ่งมาจาก ต.น้ำเขียว อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ได้มาจำพรรษา ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัด สร้างกุฏิ หอระฆัง สร้างบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และได้ขอแต่งตั้งวัดขึ้นอย่างเป็นทางการร่วมกับผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น คือ นายพรหม กรมภักดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หลังจากหลวงพ่อบุญจันทร์ โฆสิโณ ได้มรณภาพลง ได้มีหลวงพ่อทองจาก อ.สนม จ.สุรินทร์ มาอยู่จำพรรษาหลังจากหลวงพ่อทอง ได้มีพระอธิการจันโท ขันติโก เป็นเจ้าอาวาส และได้นำพาญาติโยมสร้างอุโบสถขึ้น๑หลัง ซึ่งขณะนั้นมีนายปาน เสนสอน เป็นผู้ใหญ่บ้าน

เมื่อพระอาจารย์จันโท ขันติโก ได้ลาสิกขาออกไป ได้มีพระสงฆ์มารักษาการแทน คือหลวงพ่อนิกร มาจาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ได้สร้างกุฏิ๑หลัง  หลวงพ่อช่วย จากบ้านน้ำเขียวได้สร้างศาลาหลังใหม่ ซึ่งมีนายบุญจันทร์ ลุนคำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อหลวงพ่อช่วยมรณะภาพ มีพระอาจารย์น้อยซึ่งเป็นบุตร ได้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้มีพระอธิการจำปา โชติปญฺโญ มาเป็นเจ้าอาวาสและได้สานงานต่อ ก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ร่วมกับชาวบ้านเรื่อยมา ขณะนั้นมีนายยิ่งเจริญ ย่างหาญ เป็นผู้ใหญ่บ้านและได้ร่วมมือกันก่อสร้างหอระฆังหลังใหม่ขึ้นมาแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา เมื่อหลวงพ่อจำปา โชติปญฺโญ มรณภาพลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงได้มีพระอธิการรงค์ จนฺทสาโร เป็นเจ้าอาวาสแทนจนถึงปัจจุบัน

อาคารเสนาสนะ 

๑. อุโบสถ

๒. วิหาร

๓. ศาลาการเปรียญ

๔. กุฏิสงฆ์คอนกรีตเสริมเหล็ก๒ชั้น

๕. กุฏิสงฆ์คอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว

๖. ศาลาบำเพ็ญกุศล

๗. ฌาปนสถาน

๘. หอระฆัง

ปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุ

๑. พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโลหะทองเหลือง ปางมารวิชัย ซึ่งมีชื่อว่า สมเด็จปาริสุทธิโกศี มุณีอรุณ ขนาดหน้าตัก ๓๙ นิ้ว

๒. พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ หน้าตัก ๒๐ นิ้ว ยุครัตนโกสินทร์ นำมาจากวัดบ้านสระบาก ซึ่งยุคนั้นวัดบ้านสระบากร้าง จึงนำมาเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นโบราณวัตถุที่มีสำคัญ

รายนามเจ้าอาวาสตั้งแต่รูปแรกจนถึงปัจจุบัน

รูปที่ ๑ หลวงพ่อจารย์คำ

รูปที่ ๒ หลวงพ่ออ้าย ทองมาก

รูปที่ ๓ หลวงพ่อใส วันทุมมา

รูปที่ ๔ หลวงพ่อหา

รูปที่ ๕ หลวงพ่อบุญจันทร์ โฆสิโณ

รูปที่ ๖ หลวงพ่อทอง

รูปที่ ๗ พระจันโท ขันติโก

รูปที่ ๘ หลวงพ่อนิกร พ.ศ. ๒๕๓๘ – ๒๕๔๓

รูปที่ ๙ หลวงพ่อช่วย พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๔๕

รูปที่ ๑๐ พระอาจารย์น้อย พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๘

รูปที่ ๑๑ พระอธิการจำปา โชติปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๖๐

รูปที่ ๑๒ พระอธิการณรงค์ จนฺทสาโร พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงปัจจุบัน

ประวัติพระอธิการณรงค์ จนฺทสาโร

พระอธิการณรงค์ จนฺทสาโร ชื่อเดิม ณรงค์ บุญแจ้ง เกิดวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ปัจจุบัน อายุ ๕๖ปี พรรษา ๑๒ อุปสมบท เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ พัทธสีมาวัดอรุณโรจน์

โดยมี พระครูบวรรัตนกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์

  พระนู ธมฺมธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอธิการจำปา โชติปญฺโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

วุฒิการศึกษา

พ.ศ. ๒๕๔๘ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ. ๒๕๕๕ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ. ๒๕๕๗ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก

วุฒิการศึกษาสามัญ

พ.ศ. ๒๕๑๘ จบประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านอาจญา

พ.ศ. ๒๕๕๖ ปริญญาตรี (พธ.บ.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย