

ประวัติวัดดุมใหญ่ อารามเก่าแก่คู่บ้านดุมใหญ่
วัดดุมใหญ่ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๒ บ้านดุมใหญ่ หมู่ที่ ๖ ตำบลดุมใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา มีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือ จดหมู่บ้าน ทิศใต้ จดถนน ร.พ.ช. ทิศตะวันออก จดถนน ร.พ.ช. ทิศตะวันตก จดหมู่บ้าน
วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำชุมชนบ้านดุมใหญ่ ในอดีตบ้านดุมใหญ่ มี ๒ วัด คือ วัดทุ่ง ที่หมู่ ๕ แต่ปัจจุบันร้างไปแล้ว เป็นที่ธรณีสงฆ์ สำหรับวัดดุมใหญ่ ตั้งราว พ.ศ. ๒๓๘๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ภายในวัดมีเสนาสนะต่าง ๆ ได้แก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอแจกหลังเก่า หอระฆัง ซุ้มประตูโขง ทางเข้าวัดมี ๒ ประตู ทิศตะวันตกและทิศใต้ และกุฏิสงฆ์จำนวน ๑๒ หลัง นอกจากนี้วัดเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดดุมใหญ่ และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.)

ปูชนียสถานวัดดุมใหญ่
วัดดุมใหญ่เป็นวัดศูนย์กลางของชุมชนมาแต่อดีต มีความโดดเด่นจากโบราณสถานที่ทางวัดยังคงรักษาไว้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ เช่น เสมาศิลปะทวารวดี อายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี และหอแจกหลังเก่า ซึ่งเป็นอาคารไม้ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อทดแทนสิม (อุโบสถ) หลังเก่าของวัด แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ มีความกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายหลังมีความทรุดโทรมตามกาลเวลา พระครูกันตวรรณคุณจึงได้นำปฏิสังขรณ์ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัย อุบาสิกา ตระกูลอินทรีย์ สร้างถวาย และปูชนียวัตถุสำคัญต่าง ๆ เช่น หลวงพ่อศิลา พระคู่บ้านคู่เมืองของบ้านดุมใหญ่









หลวงพ่อศิลา
พระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ศิลปะพื้นบ้านแบบลาวหรืออีสาน ขนาดสูงรวมฐาน ๑๑๐ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๔๐ เซนติเมตร มีจารึกอักษรไทยน้อย ๖ บรรทัด สร้างโดยเจ้าขนันปัสสธรรมาวุธอุตตมปัญญา พระเถระรูปสำคัญในพื้นที่บ้านดุมใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๙ ก่อนสถาปนาเมืองอุบลราชธานี
เสมาทวารวดี
เสมาศิลาเหล่านี้ ปักอยู่โดยรอบอุโบสถ จำนวน ๑๑ ใบ โดยจำแนกเป็นเสมาศิลปะทวารวดี จำนวน ๗ ใบ และเสมาหินทรายของสิม (อุโบสถ) หลังเก่าของวัด ที่หลงเหลือปักอยู่ร่วมกันจำนวน ๔ ใบ เฉพาะเสมาศิลปะทวารวดีเหล่านี้นับได้ว่ามีลักษณะร่วมกันกับที่พบในแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ คือ เป็นใบเสมาที่มีแกนทรงกรวย ประดับตรงกลางทั้งสองด้าน บางใบพบว่ามีการสลักรูปพระพุทธเจ้าในแกนสถูปด้วย สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ เท่ากับว่ามีอายุในการสร้างไม่ต่ำกว่า ๑,๓๐๐ – ๑,๐๐๐ ปี เปรียบเทียบได้กับกลุ่มใบเสมาทวารวดี ที่วัดโพธิ์ศิลา บ้านโพธิ์ศิลา ตำบลเปื่อย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชุมชนโบราณ และความเก่าแก่ในการตั้งถิ่นฐานของคนในอดีตที่บ้านดุมใหญ่แห่งนี้
ศาลาการเปรียญ
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ขนาดความกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตหลังคาเหล็กมุงกระเบื้อง ภายในประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัย สร้างถวายโดย สจ.ประพันธ์ – นางสมหมายพิศชวนชม และบุตรชายหญิง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ และหลวงพ่อทันใจ







หอแจก (ศาลาการเปรียญหลังเก่า)
สร้างเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นศาลาการเปรียญหลังเก่าหรือ หอแจก แต่เดิมตั้งอยู่ใกล้อุโบสถ พระครูกันตวรรณคุณ ได้นำญาญาติโยมและคณะศรัทธาอนุรักษ์อาคารไม้อันหาชมได้ยากนี้ไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยทำการเคลื่อนมาอยู่ในจุดปัจจุบัน และทำการยกอาคาร เป็นสองชั้น อาคารนี้เคยใช้เป็นโรงเรียนของคนในหมู่บ้านเมื่อเกือบราว ๘๐ ปี

ต้นส้มโฮง
ต้นสัมโฮง หรือสำโรง ลำต้นสูงชะลูด กิ่งก้านแตกแขนงออกเป็นระยะ ทรงพุ่มเป็นชั้น ดูคล้ายฉัตรยืนตระหง่านงามอยู่ภายในวัด มีขนาดเส้นรอบวงได้ ๗ เมตร ความสูง ๔๐ เมตร มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปี ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในต้นไม้ ๖๕ ต้น ทั่วประเทส ในโครงการ “รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐


ธาตุบรรจุอัฐิท่านมหาปุ้ย แสงฉาย (ป.ธ.๖) ปราชญ์พุทธศาสนาท่านสำคัญของประเทศไทย ผู้แต่งแปลพระไตรปิฎกสำนวนเทศนาธรรมแห่งสำนัก ส.ธรรมภักดี
บริเวณวัดดุมใหญ่ ทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของธาตุบรรจุอัฐิของอดีตเจ้าอาวาส และคฤหัสญาติโยมของบ้านดุมใหญ่ หนึ่งในนั้นมีธาตุทรงบัวเหลี่ยม ๑ องค์ เดิมเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของนายบุญ แสงฉาย และนางจันทร แสงฉาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เพิ่มเติมเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของท่านมหาปุ้ย แสงฉาย (ป.ธ.๖) ซึ่งเป็นญาติของท่านทั้งสองเพิ่มเติม





ลำดับเจ้าอาวาส
๑) พระอธิการเพ็ง ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๐ – ๒๔๓๒
๒) เจ้าอธิการเกษ ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๔๕
๓) พระอธิการแปร ครองวัดระหว่าง พ.ศ. – ๒๔๕๔ – ๒๔๘๗
๔) พระอธิการเขียว ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๕๐๐
๕) พระอธิการพุฒ ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๑๐ ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านฟ้าห่วน อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ
๖) พระอธิการอวด ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๒ ภูมิลำเนาอยู่บ้านดุมใหญ่มาแต่เดิม
๗) พระอธิการอ่อน ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๕ ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านฟ้าห่วน อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ
๘) พระอธิการอ่อนสา ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๒๐ ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านสร้างมิ่งอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
๙) พระบัว เตชพโล ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๔๔
๑๐) พระอธิการเก่ง กลฺยาโณ ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๔ – ๒๕๔๖ ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ
๑๑) พระครูกันตวรรณคุณ (อนัน กนฺตวณโณ เปมทา น.ธ.เอก) ครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ – ปัจจุบัน



















