กลับไปหน้าหลัก

วัดบ้านทิพย์เนตร

ตำบลกระเบื้อง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์

Ban Thip Pha Net Temple

Tile District Chumphon Buri District Surin Provin

ข่าวสารประชาสัมพันธ์
ขอเชิญร่วมงานสมโภชพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต ณ วัดบ้านทิพย์เนตร จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 3 – 6 มกราคม 2565

ความเป็นมา

เมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งเป็นวันที่สำนักสงฆ์บ้านทิพย์เนตรกำเนิดขึ้น โดยความดำริของผู้เฒ่าผู้แก่ มองเห็นว่าการที่จะทำบุญแต่ละครั้งในวันศีลวันพระหรือวันอื่นๆ ก็จะต้องบุกน้ำลุยโคลนไปวัดที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านมาก และประกอบกับการมีความศรัทธามุ่งมั่นในพระพุทธศาสนาต้องเดินเท้าไปทำบุญในถิ่นอื่นที่อยู่ไกลออกไปในระยะแรกก็ได้แสวงหาผู้ที่จะบริจาคที่ดิน เพื่อจะสร้างสำนักสงฆ์ไว้ ประจำหมู่บ้านและก็ได้มีผู้บริจาคที่ดินคือ

 (๑) นายพรมมา นางออย ปานเพชร อดีตผู้ใหญ่บ้าน

 (๒) นายกว้าง นางโฮม มีรัมย์

 (๓) นายน้อย นางนาง อินทร์ทอง

 (๔) นายภู นางเกลี้ยง สอนสันติ

 (๕) นางจันทร์ บุญกล้า

 (๖) นางกิ่งแก้ว สอนสันติ

 (๗) นางนี เกตุแก้ว

ที่ดินดังที่กล่าวนั้น ตั้งอยู่ที่ระหว่างกลางระหว่าง ๒ คุ้ม คือคุ้มตะวันออก กับคุ้มตะวันตก และได้รับการบริจาคบ้านเรือนไม้ ๑ หลังจากนายจันดา นางตู้ ศรีคำ เพื่อนำมาปลูกสร้างเป็นกุฎีสงฆ์ โดยการก่อสร้างนั้นได้หาเงินส่วนหนึ่งไปซื้อไม้จากโรงไม้มาเพิ่มเติม จึงได้เป็นกุฏิ ๑ หลังความยาวประมาณ ๑๕ เมตรกว้าง ๑๓ เมตร ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ก็ได้ทำการรื้อถอนโยกย้ายสำนักสงฆ์ออกไปอยู่ที่ใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า ที่ตั้งสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่นั้นเป็นที่ลุ่ม พอถึงฤดูฝนเกิดน้ำท่วม น้ำก็จะท่วมสูงถึงเลยหัวเข่า หรือประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร พระสงฆ์ที่อาศัยอยู่นั้นมีความลำบากมาก ในการที่จะเข้าหรือออกเพื่อบิณฑบาตหรือไปทำกิจต่าง ๆ นอกวัด ซ้ำยังเป็นวัดที่ยากจนขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ บางปีหาพระสงฆ์จำพรรษาได้แค่ ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง และมีเสียงพูดหนาหูของผู้คนหลายๆคนว่าวัดหาบบ้านมันไม่ดี โดยไม่ดีในหลายๆ แง่มุม ผู้นำหมู่บ้านหรือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่า ผู้แก่ จึงปรึกษาหารือกันว่าจะหาที่ใหม่ในการสร้างวัด มีใครเห็นดีงามด้วย ทั้งหมู่บ้านมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน คือให้ย้ายวัด ได้มีพี่น้องหลายคนเสนอที่ดินที่มีอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านคุ้มตะวันตก ซึ่งมีที่ดินของ (๑) นายนุย นางบุญศรี เกตุแก้ว (๒) ที่ดินนางวัน อินทร์สำราญ (๓) ที่ดินนางเกลี้ยง นายภู วรรณธานี (๔) ที่ดินของนายน้อย นางนาง อินทร์ทอง ส่วนที่ (๕) เป็นของนายรัตน์ นางสุดตา เก่งไพร ได้เอาที่ดินของสำนักสงฆ์แห่งเดิมแลกเปลี่ยนเอาที่ดินที่เอ่ยนามท่านทั้งหลายนั้นชาวบ้านก็ขอให้บริจาคเพื่อสร้างวัด ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็อนุโมทนายกมอบถวายให้ด้วยจิตใจอันประกอบด้วยกุศลศรัทธาอย่างแท้จริง ประกอบกับที่ใกล้ ๆ นั้นก็มีหนองบ้าน  (สระน้ำ) ที่กันไว้ก่อนหน้านั้น มีเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ นำมารวมกันกับส่วนที่ได้รับบริจาคของชาวบ้านผู้มีศรัทธาอีกจำนวน ๕ แปลงที่ดินก็ยังไม่พอที่จะดำเนินการขอตั้งวัด แต่ต่อมาทางวัดก็ได้ชื้อที่ดินเพิ่มเดิมอีกจำนวน ๑ แปลงรวมแล้วมีที่ดินทั้งหมด ๖ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา

รายนามผู้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัดแห่งที่ ๒ ของบ้านทิพย์เนตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔  มีดังนี้

๑.พ่อแรมแม่วัน อินทร์สำราญ จำนวน ๒ ไร่

๒.พ่อนุยแม่บุญศรี เกตุแก้ว จำนวน ๒ ไร่

๓.พ่อน้อยแม่นาง อินทร์ทอง จำนวน ๑ งาน

๔.พ่อมั่น แม่กิ่งแก้ว สอนสันติ และพ่อภูแม่เกลี้ยง วรรณธานี จำนวน ๒ งาน ทั้งหมดนี้เป็นประมาณการ และที่ดินอีกส่วนหนึ่งได้ซื้อจากนายน้อย อินทร์ทอง เป็นจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) รวมกับที่หนองสระน้ำที่ตื้นเขินชาวบ้านมีมติให้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของวัด ด้วยจึงเป็นที่ดิน ๖ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวาเมื่อที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้รื้อเอากุฏิไม้ออกจากที่ตั้งเดิมมาปลูกขึ้น จำนวน ๑ หลังโดยยาว ๑๕ เมตรกว้าง ๑๓ เมตรเท่าเดิม และสร้างห้องน้ำห้องส้วมจำนวน ๒ ห้อง ๑ หลัง มี พระสมิง เครื่องไธสง (ฉายา) เป็นหัวหน้าสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้ไปนิมนต์พระอาจารย์บุญมี จนฺทรํสี นามสกุล สังข์น้อย
วัดทุ่งสว่างหัวนาคำ มาเป็นหัวหน้าสำนักสงฆ์แทน พระสมิง เครื่องไธสง ซึ่งลาสิกขาไป ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พระอาจารย์บุญมี จนฺทรํสี ก็ลากลับไปอยู่จำพรรษาที่วัดทุ่งสว่างหัวนาคำอีกครั้งหนึ่ง

  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ พระบุญเพ็ง ฐิตวํโส (สอนสันติ) ได้อุปสมบท ที่วัดศรัทธาวารี บ้านไพรขลา ตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี แล้วก็ได้ย้ายสังกัดมาอยู่ด้วยกับพระอาจารย์ประธานสงฆ์ ภายใต้ชื่อพระอาจารย์บุญมี จนฺทรํสี ในพรรษาแรก จากนั้นท่านก็ลากลับไปจำพรรษาที่วัดทุ่งสว่างหัวนาคำ พระบุญเพ็ง ฐิตวํโส ก็รับหน้าที่เป็นหัวหน้าสงฆ์และได้พัฒนาวัดเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน หลังจากที่พระบุญเพ็ง ฐิตวํโส ได้ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์มาหลายปี ก็ได้ดำเนินการขอสร้างวัดได้เริ่มขอใช้ที่ดินในเขต สปก.๔-๐๑ โดยนายภู
วรรณธานี ผู้ใหญ่บ้านขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการและได้รับอนุญาตจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์และสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ให้ดำเนินการสร้างวัดได้ตามวัตถุประสงค์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ แต่ก็ยังไม่สำเร็จเพราะขาดประสบการณ์ในการดำเนินงานล่าช้าไป รอจนในที่สุด เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ก็ได้รับข่าวดีจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ประกาศให้ตั้งวัดในพระพุทธศาสนาในชื่อว่า
วัดบ้านทิพย์เนตร ขึ้นตรงต่อ ตำบลกระเบื้อง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ โดยแยกเป็นเอกเทศจาก ตำบลศรีณรงค์ เมื่อทางบ้านเมืองขอแยกเป็นตำบลใหม่ คือ ตำบลกระเบื้อง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ดังในปัจจุบัน 

ทำเนียบประธานสงฆ์ (เจ้าอาวาส)วัดบ้านทิพย์เนตร

๑.พระศิลา ฉายา พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๘

๒. พระบุญกอง ฉายา พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๑

๓. หลวงพ่อลี เผ่าทองงาม พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๔

๔. พระสมิง เครื่องไธสง พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕

๕. พระบุญมี ปญฺญาธโร (สังข์น้อย) พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๘

๖. พระบุญเพ็ง ฐิตวํโส รักษาการหัวหน้าสำนักสงฆ์ ๒๕๒๘ – ปัจจุบัน