

อุโบสถ
วัดธัมมปติฏฐาราม


ประวัติวัดธัมมปติฏฐาราม
ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘/๑ หมู่ที่ ๒ บ้านหนองเต่า ตำบลหนองเต่า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙
เดิมชื่อว่า วัดศรีโพธิ์ชัยบ้านหนองเต่า ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยมีพระพรหม โสภา เป็นผู้สร้างวัด
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
- ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๘ เมตร
- ครั้งที่สอง เมื่อ ประกาศ ณ วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร
ที่ดินที่ตั้งวัด
วัดมีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๕ ตารางวา มีอุโบสถ์ ๑ หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สิ้นงบประมาณ ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยการนำของคุณสุริยะ จงอติเรกลาภ มีวิหาร ๑ หลัง (แต่ก่อนเป็นอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ สิ้นงบประมานในการก่อสร้าง ๔๑๙ บาท โดยการนำของพระไข่ และภิกษุสามเณรทั้งปวง และชาวบ้านหนองเต่า)
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้บูรณะใหม่สิ้นงบประมาณ ๕๐๐,๐๙๙ บาท โดยการนำของพระครูขันติปรีชากรพร้อมพระสงฆ์สามเณรและชาวบ้านหนองเต่า ชาวบ้านดอนเจริญ และหมู่บ้านใกล้เคียง
อาคารสาธารณะประกอบด้วย
- ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยการนำของ พระอธิการอำนวย โกวิโท สิ้นงบประมาณ ๘๐๐,๐๙๙ บาท
- ศาลาเอนกประสงค์ ๑ หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สิ้นงบประมาณ ๑๘,๐๐๙๙ บาท โดยการนำของพระครูขันติปรีชากร
- กุฏิสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง เป็นอาคารปูน ๕ หลัง เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งปูน ๒ หลัง
- วัจกุฎี ๒๐ ห้อง มีหอระฆัง ๑ หลัง เจดีย์ ๑
ปูชนียวัตถุมี
- พระประธาน จำนวน ๙ องค์ สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ ๑ องค์ สร้างด้วยทองเหลือง ๗ องค์ สร้างด้วยศิลา ๑ องค์
- รอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยศิลา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ งบประมาณจากการบริจาค ๑๔๐,๐๐๐ บาท
(ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งตรงกับปีที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ศิษยานุศิษย์ในองค์สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ร่วมกันจัดสร้างพระพุทธปฏิมาพระประธานในอุโบสถโดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานเททองพร้อมทั้งทรงถวายพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธรัตนญาณสิริสุวัฒโน”)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่วัดธัมมปติฏฐาราม ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ประทับแรมที่วัดสุปัฏฏนาราม ทรงประชวรและเดินทางกลับ และต่อมาในวันที่ ๒๐ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยการนำของพลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา เสนาธิการทหารอากาศและศิษยานุศิษย์ได้ขอพระราชทานเพื่อสร้างพระนามย่อ ญสส. เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าบรรณอุโบสถหลังใหม่ด้วย
การเสด็จในครั้งที่สองวันที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เสด็จมาประทับที่ วัดธัมมปติฏฐาราม ทรงเป็นประธานในการถวายผ้ากฐิน
ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ พระครูขันติปรีชากร เจ้าอาวาสวัดธัมมปติฏฐาราม เจ้าคณะตำบลหนองเต่า ได้นำพาคณะสงฆ์ ญาติโยมชาวบ้านหนองเต่าและบ้านดอนเจริญ บูรณวิหารขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งมี พ.ญ.สุอารีย์ อ้นตระการ และคณะคุณสุริยะ จงอติเรกลาภเป็นเจ้าภาพ เป็นที่เก็บอัฐิบูรพาจารย์, อุบาสกอุบาสิกาผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม, และรอยพระพุทธบาทจำลอง
ด้านการศึกษา
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเปิดสอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้ปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งมาเปิดทำการเรียนการใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เริ่มสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดธัมมปติฏฐารามที่ป่าช้าบ้านหนองเต่า บ้านดอนเจริญ มีเนื้อที่ ๒๗ ไร่โดยประมาณ ศาสนวัตถุมีศาลาปฏิบัติธรรม ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๔๒ เมตร งบประมาณในการสร้าง ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ระยะเวลาในการสร้าง ๕ เดือนกับ ๑๓ วัน เริ่มสร้างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ เสร็จวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ มีกุฎีสงฆ์ ๗ หลัง เวจกุฎี ๑๘ ห้อง มีเมรุ ๑ หลัง ศาลาพักญาติ ๑ หลัง มีพระจำพรรษา ๖ รูป
พระพุทธรูปสำคัญของวัด
๑. หลวงพ่อสำเร็จ ประดิษฐานที่อุโบสถ
๒. สมเด็จพระพุทธรัตนญาณสิริสุวัฒโน ประดิษฐานที่อุโบสถ
๓. สมเด็จพระพุทธสยามมิ่งมงคล (หลวงพ่อพุทธประทานพร) ประดิษฐานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดธัมมปติฏฐาราม ป่าช้าบ้านหนองเต่า บ้านดอนเจริญ
๔. พระศรีมงคลอุบลวิเศษทันใจ (หลวงพ่อทันใจ) ประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญ
วัดธัมมปติฏฐารามยังมีที่ธรณีสงฆ์อยู่ที่สวนวัดทุ่ง (สวนวัดท่ง)
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่
ส่วนวัดทุ่ง คือ ธรณีสงฆ์ของบ้านนาดอกไม้ ในอดีตนั้นเป็นดอนปู่ตาเป็นที่นับถือทางจิตใจของชาวบ้าน ถ้ามีผู้ทำผิดฮีตผิดคลองก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็น โดยจะมีสัตว์ป่าวิ่งเข้าในหมู่บ้าน เช่น ไก่ฟ้า, กวาง, ฟาน, ม้า แล้วจะหายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งต่อมาชาวบ้านหนองเต่าก็ได้ทำพิธีเลิกนับถือปู่ตา เมื่อประมาณ ๕๐ ปี ที่ผ่านมา (ปัจจุบันปี ๒๕๖๒)
สวนวัดทุ่งมีพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ อยู่ติดลำห้วยม่วงไข่และห้วยแสนสี มีกอไผ่ล้อมรอบ และมีจอมปลวกใหญ่อยู่ตรงกลาง ในอดีตเมื่อ ๔๐ กว่าปีที่แล้วชาวบ้านได้นิมนต์หลวงปู่อุ้ยไปปักกรดบำเพ็ญศีลที่นั่น ๗ – ๑๕ วัน.
พระประธานประจำอุโบสถ
วัดธัมมปติฏฐาราม






สมเด็จพระพุทธรัตนญาณสิริสุวัฒโน
พระพุทธปฏิมากรประธานในอุโบสถ วัดธัมมปติฏฐาราม บ้านหนองเต่า ต.หนองเต่า อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
ปฐมเหตุในการจัดสร้าง เนื่องจากคณะกองทุนเชิดชูธรรม และกองทุนดอกเบญจธาตุ ผู้เป็นศิษยานุศิษย์ ในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวัฒโน) เคยรับใช้ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในงานสร้างวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จนสำเร็จสง่างาม ได้รับเป็นเจ้าภาพสร้างอุโบสถ-พระพุทธปฏิมาประธาน และพระอัครสาวก ณ.วัดธัมมปติฏฐาราม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงประทานอนุโมทนาอนุญาตเป็นประธานเททอง ทรงเมตตาประทานทองฉนวนที่ทรงเก็บรวบรวมไว้มาเททองหล่อ ณ ประรำพิธีหน้าโบสถ์รังษี วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ โดยการเททองแบบเต็มองค์ (ไม่ตัดหล่อแล้วนำมาประกอบแบบทั่วไป) ทรงประทานพระเมตตาทำพิธีฉลองเบิกพระเนตรด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเศียร ณ ลานด้านข้างโบสถ์รังษี วัดบวรนิเวศวิหาร
ในวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๑ จึงอัญเชิญ สมเด็จพระพุทธรัตญาณสิริสุวัฒโน จากวัดบวรนิเวศวิหารขึ้นไปประดิษฐานที่วัดธัมมปติฏฐาราม ซึ่งระหว่างการเดินทางจากวัดบวรนิเวศวิหารขึ้นไปถึงวัดธัมมปติฏฐาราม มีฝนโปรยปรายตลอดเส้นทางกรุงเทพฯ ถึงอุบลฯ ซึ่งเป็นมหัศจรรย์ใจแก่ผู้รู้เห็นเหตุการณ์มากเนื่องจากฝนตกระยะทางกว้างไกลตลอดการเดินทางในช่วงปลายเดือนมีนาคม อันเป็นฤดูแล้ง นับเป็นนิมิตอันดีงามเป็นสิริมงคลร่มเย็นชุ่มฉ่ำด้วยพระพุทธานุภาพ และพระบารมีแห่งสมเด็จพระสังฆราชา สมเด็จพระญารสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่วัดธัมมปติฏฐาราม ซึ่งระหว่างการเดินทางจากวัดบวรนิเวศวิหารขึ้นไปถึงวัดธัมมปติฏฐาราม มีฝนโปรยปรายตลอดทางกรุงเทพฯ ถึงอุบลฯ ซึ่งเป็นมหัศจรรย์ใจแก่ผู้รู้เห็นเหตุการณ์มากเนื่องจากฝนตกระยะทางกว้างไกลตลอดการเดินทางในช่วงปลายเดือนมีนาคม อันเป็นฤดูแล้ง นับเป็นนิมิตอันเป็นเป็นสิริมงคลร่มเย็นชุ่มฉ่ำด้วยพระพุทธานุภาพ และพระบารมีแห่งพระสังฆราชา สมเด็จพระญารสังวร สมเด็จพระสังฆราช
หลวงพ่อสำเร็จ
วัดธัมมปติฏฐาราม

ประวัติหลวงพ่อสำเร็จ
ประวัติ “หลวงพ่อสำเร็จ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อสัมฤทธิ์ลักษณะสองถอด ฐานถอดชั้น ล่างถอดชั้นออกจากชั้นบนได้ตลอดทั้งองค์แกะลวดลายสกุลช่างได้อย่างละเอียดวิจิตร งดงามแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ซึ่งช่างได้ถอดองค์คุณลักษณะ และหลักในพุทธศาสนาไว้อย่างสอดคล้องกับฐานล่างสุดวัดได้ ๑๐๘ เซนติเมตรเป็นพุทธคุณทั้ง ๑๐๘ ฐานล่างตรงกลางวัดได้ ๔๕ เซนติเมตร เท่ากับ อายุพรรษาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฐานด้านบน วัดได้ ๘๐ เซนติเมตรเท่ากับอายุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หน้าตัก ๓๐ นิ้ว เปรียบเหมือนการบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศเมื่อทำการสร้างอุโบสถ์หลังใหม่เสร็จจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อสำเร็จขึ้นประดิษฐานในอุโบสถ์หลังใหม่
“หลวงพ่อสำเร็จ” ขนานนามตามความสำเร็จในการร่วมแรงร่วมใจจากคณะสงฆ์และญาติโยมสร้างอุโบสถ์ได้สำเร็จตามความปรารถนา และมีลักษณะพิเศษอีกคือเมื่อญาติโยมจะไปสอบเข้าเรียนหรือเข้ารับราชการ การเลือกตั้ง ทำมาค้าขาย ไปทำมาหากินอยู่ต่างถิ่นฐาน เดินทางขึ้นรถ ลงเรือไปเหนือล่องใต้ให้เดินทางปลอดภัย มากราบขอพรก็จะได้ผลสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ.
พระเจ้าศรีมงคลอุบลวิเศษทันใจ
(หลวงพ่อทันใจ)

ในการสร้าง “พระศรีมงคลอุบลวิเศษทันใจ” องค์ที่ ๒๐ ในครั้งนี้นั้น เพื่อถวายเป็นพระรัตนตรัยบูชา และอาจาริยะบูชา ณ วัดธัมมปติฏฐาราม บ้านหนองเต่า ตำบลหนองเต่า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑
ปฐมเหตุการณ์สร้าง เพื่อเพื่อความคล่องตัว เติมเต็ม ทั้งทางโลกทางธรรมโดยพระลามะจื้อไห่รินโปเช่ และคณะศิษยานุศิษย์ ญาติธรรมกองบุญหมื่นฟ้าสร้างถวายเป็นพระรัตนตรัยพุทธบูชา
คำไหว้พระเจ้าทันใจองค์ที่ ๒๐ พระเจ้าศรีมงคลอุบลวิเศษทันใจ วัดธัมมปติฏฐาราม บ.หนองเต่า ต.หนองเต่า อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
(ตั้งนะโม ๓ จบ) ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดาครูอาจารย์ พรหมเทวดาผู้ทรงสัมมาทิฐิ ที่รักษาองค์พระแล้วว่า
“อะระหังพุทโธ โสธายะ ภะคะวา พระพุทธศรีมงคลอุบลวิเศษทันใจ
พุทธา นะมามิหัง นะมะพะทะ จิเจรุนิ มะอะอุ อุอะมะ อะอุมะ
อายุ วัณโณ สุขัง พลัง นิพพานังปะระมังสุขัง”
“ข้าพเจ้าขอผู้บูชาตั้งมั่นในทาน ศีล ภาวนา ขออำนาจบารมีกุศลกรรมจงประสบผลสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม ขอจงประสพมีโชคลาภ เจริญสุขสมบัติ รุ่งเรืองทุกประการ ข้าพเจ้าขอตั้งมั่นเจริญทาน ศีล ภาวนา สิ่งดีมีประโยชน์ขอจงบังเกิดมี สิ่งไม่ดีขอจงหายไป ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ขออำนาจทาน ศีล ภาวนาที่ข้าพเจ้าบำเพ็ญมาทุกชาติภพ จงมาเป็นกำลังให้เจริญซึ่งอริยะทรัพย์ ได้บรรลุซึ่งกุศลกรรมบารมียิ่งๆขึ้นไป ตราบเท่าเข้าสู่มรรคผลนิพพานเทอญ”
พระลามะจื้อไห่รินโปเช่ และคณะศิษยานุศิษย์ ญาติธรรมกองบุญหมื่นฟ้าสร้างถวายเป็นพระรัตนตรัยพุทธบูชาขอผลบุญนี้จงส่งถึงบิดามารดา ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ พรหมเทพเทวดาสรรพสัตว์ สรรพชีวิต เจ้ากรรมนายเวรทุกชาติภพจงเจริญสุขสวัสดี ตราบมรรคผลนิพพาน นิพพานัง ปะระมังสุขัง.


ศาลาการเปรียญ
วัดธัมมปติฏฐาราม



วิหารพระ
วัดธัมมปติฏฐาราม







เจดีย์
วัดธัมมปติฏฐาราม

หอระฆัง
วัดธัมมปติฏฐาราม


รูปปั้นนายเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)
วัดธัมมปติฏฐาราม



สำนักงานเจ้าคณะตำบล
วัดธัมมปติฏฐาราม

การบริหารและการปกครอง
มีเจ้าอาวาสเท่าที่พอทราบนามดังนี้
รูปที่ ๑ พระอธิการพรหม โสภา พ.ศ. ๒๔๐๙ – ๒๔๑๙
รูปที่ ๒ พระอธิการมั่น พ.ศ. ๒๔๑๙ – ๒๔๓๕
รูปที่ ๓ พระอธิการคำชมพู พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๔๕
รูปที่ ๔ พระอธิการปุ้ย พ.ศ. ๒๔๔๕ – ๒๔๕๑
รูปที่ ๕ พระอธิการถ้ำ พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๔๕๘
รูปที่ ๖ พระอธิการหมุน พ. ศ. ๒๔๕๘ – ๒๔๗๐
รูปที่ ๗ พระอธิการไข่ พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๘๖
รูปที่ ๘ พระอธิการโสม สนฺตจิตฺโต พ.ศ. ๒๔๘๖ – ๒๔๙๙
รูปที่ ๙ พระอธิการสี ปุญฺญกาโม พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๑๕
รูปที่ ๑๐ พระอธิการสงคราม ภทฺทิโย พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๒๐
รูปที่ ๑๑ พระอธิการอำนวย โกวิโท พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๓๓
รูปที่ ๑๒ พระอธิการจันที ผาสุโก พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๓๖
รูปที่ ๑๓ พระอธิการจันที จนฺทสาโร พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๓๙
รูปที่ ๑๔ พระครูขันติปรีชากร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จนถึง ปัจจุบัน
พระครูขันติปรชากร
เจ้าอาวาสวัดธัมมปติฏฐาราม
กุฏิสงฆ์
วัดธัมมปติฏฐาราม

บรรยากาศ/ซุ้มประตู
วัดธัมมปติฏฐาราม



