ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

Wat Than Thong Mae Ngoen Subdistrict, Chiang Saen District Chiang Rai

ความเป็นมา

ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สืบเนื่องมาจากก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีชาวเขาเผ่าม้ง บ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และชาวเขาเผ่าม้งบ้านไทยสามัคคี อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายกลุ่มหนึ่ง รวมประมาณ ๒๐ คน ศรัทธาในพระบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ซึ่งท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบสายป่าอรัญวาสี จึงได้ติดตามไปรับใช้ในงานต่าง ๆ ของท่าน เช่น การถากถางสถานที่เพื่อการบูรณะสถานที่ปฏิบัติธรรมดอยเวียงแก้ว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ของพระครูบาบุญชุ่ม ตลอดจนได้ติดตามท่านไปในที่ต่าง ๆ  เพื่อให้ท่านไปสร้างวัดให้ที่บ้านธารทอง จนท่านพระครูบาบุญชุ่มท่านแน่ใจแล้วว่าชาวเขาเผ่าม้งกลุ่มนี้ศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตลอดจนที่หมู่บ้านธารทองมีศาสนาอื่นเข้าไปเผยแผ่ 

เดิมชาวบ้านธารทองนับถือผีบรรพบุรุษกันทั้งหมด ลูกหลานได้ไปเรียนหนังสือ และไปบวชเณรตามวัดต่าง ๆ ด้วยฐานะยากจนได้รับเอาศาสนาพุทธไว้ และในหมู่บ้านธารทองได้มีการติดต่อกับเพื่อนบ้านมากขึ้น การคมนาคมสะดวก ลูกหลานได้ไปเรียนรู้จากโลกภายนอกมากขึ้น ทำให้คนในหมู่บ้านมีการนับถือศาสนาพุทธหลายครอบครัว จึงรวมตัวกันไปหาเจ้าคณะตำบลแม่เงิน เจ้าคณะอำเภอเชียงแสนตลอดจนบุคคลทั่วไปให้มาสร้างวัดให้แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ท่านพระครูบาบุญชุ่มท่านได้มีเมตตาต่อชาวเขาเผ่าม้ง กลุ่มนี้ จึงได้ให้นางนาติ(ชิงชิง) จะพะ

ซึ่งประกอบอาชีพขายใบชาอยู่ที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ให้ไปสร้างวัดให้ชาวเขาเผ่าม้ง โดย ณ ขณะนั้นท่านพระครูบาบุญชุ่มได้ปฏิบัติธรรมในป่าของหมู่บ้านกับสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นวันทำบุญออกกรรม จึงมีชาวบ้านที่ศรัทธาทั้งใกล้ไกลมากันมากมาย โดยนางนาติ(ชิงชิง) จะพะ ก็ได้ไปในงานนี้ด้วย พระครูบาบุญชุ่มได้เรียกนางนาติ จะพะ ไปหาท่านใกล้ ๆ โดยท่านเรียกชื่อเล่นว่า อาชิง ท่านบอกให้แบมือทั้งสองข้าง โดยท่านเทน้ำจากขวดใส่มือและรดศีรษะ ส่วนที่เหลือท่านให้ถือไว้ประมาณครึ่งขวดแล้วบอกให้อาชิงไปสร้างวัดให้ชาวเขาเผ่าม้งเน่อ

ต่อมาได้มีผู้บริจาคที่ดินจำนวน ๓ ราย ดังนี้ 

๑.นางนาติ(ชิงชิง) จะพะ จำนวน ๖ ไร่ 

๒.แม่ชีบุญมี เวชสาร วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ จำนวน ๔ ไร่ ๒๕ ตารางวา 

๓.นางบัวซอน เครื่องผง จำนวน ๒ งาน 

รวมพื้นที่ทั้งหมด ๖ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา จึงได้ดำเนินการก่อสร้างมารวม ๑๓ ปี ในปัจจุบันนี้ได้ประกาศเป็นวัดเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓