วัดอรัญญวาส (วัดบ้านปง)

ดาวน์โหลดหน้า E-book

วัดบ้านปง เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อของหมู่บ้าน คือ บ้านปง (คำว่า “ปง” ภาษาเหนือหมายถึง ที่ริมฝั่งน้ำ ที่ลุ่มน้ำขัง) ตัววัดตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบเชิงเขามีภูเขาล้อมรอบ และมีแม่น้ำท่าช้างไหลผ่านบริเวณด้านหน้าวัด ทำให้บริเวณนี้มีลักษณะเป็นแอ่ง หรือ ปลักบริเวณรอบริมน้ำ ซึ่งมักมีเกลือแร่ที่สัตว์ต่างๆ จะมาหากินกัน อันมีความสอดคล้องกับตำนานพื้นบ้านแถบนี้ เรื่อง”กวางคำ” ที่เจ้านายฝ่ายเหนือขี่ม้าไล่ล่ากวางสีทองผ่านมาทางนี้ แล้วต้องมีการหยุดพักตามรายทางตรงจุดต่างๆ ของแต่ละหมู่บ้านที่กวางคำวิ่งผ่านขึ้นไปจนถึงเขตอำเภอสะเมิง   เมื่อผ่านมาบริเวณบ้านปงนี้ก็จะหยุดพัก จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อหมู่บ้านว่า ” บ้านปงยั้งม้า” (ยั้ง = จอด,พัก) คือเป็นจุดพักม้า พักการเดินทางในครั้งอดีต

                     

สันนิษฐานว่าวัดบ้านปง สร้างขึ้นในสมัยพระครูบาจินนา เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๘๖ (ประวัติวัดทั่วราชจักร เล่มที่ ๑๐ )     เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ในอดีตประมาณ  ๗  ไร่ ๒   งาน ทิศเหนือ ติดกับลำแม่น้ำท่าช้าง  ทิศใต้ติดกับที่ดินของประชาชน  ทิศตะวันออกติดกับที่ดินของประชาชน และทิศตะวันตกติดกับเขตป่าสงวน

วัดบ้านปงอยู่ในเขตอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จากประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงประวัติการปกครองในเขตนี้ไว้ว่า อำเภอหางดงเมื่อแรกตั้งขึ้นใน “ร.ศ.๑๒๐” (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๕) ยังเรียกว่า”แขวงแม่ท่าช้าง” ซึ่งมีบ้านเรือนไม่มากนัก มีพญาโยเจ้าน้อย และพระยาประจักษ์เป็นผู้ปกครอง ขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (ซึ่งขณะนั้น คือ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ พ.ศ.๒๔๔๒-๒๔๕๒) กล่าวกันว่า ในสมัยก่อน เมื่อเจ้านายนครเชียงใหม่เดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยใช้ช้างใช้ม้าเป็นพาหนะ มักต้องมาข้ามลำน้ำสายหนึ่งซึ่งไหลผ่านท้องที่เป็นประจำหรือใช้เป็นที่พักช้าง จึงเรียกลำน้ำนั้นว่า “แม่ท่าช้าง” และเรียกนามแขวงแม่ท่าช้างตามชื่อลำน้ำดังกล่าว

พระครูอาชวปรีชา (ณัฐชัย อภิชวานนฺโท)

          

 

รายนามเจ้าอาวาส     

๑.  พระครูบาจินนา

๒.  พระอธิการกันธา

๓.  พระครูบาโปธา

๔.  พระอธิการจันทร์

๕.  พระอธิการหมวก  คุโณ

๖.   พระอธิการคำ

๗.   พระอธิการสวัสดิ์

๘.   พระอินตา  สุภาจาโร

๙.   พระสุรพล   กิติกา

๑๐.  พระอธิการบุญยัง

๑๑.  พระมหาดวงจันทร์    จนฺทโชโต (พ.ศ.๒๕๓๐- ๒๕๔๐)

๑๒.  พระปัน    อิทฺธิญาโณ  รก. (พ.ศ.๒๕๔๐- ๒๕๔๒)

๑๓.  พระครูอาชวปรีชา (ณัฐชัย อภิชวานนฺโท)  (พ.ศ. ๒๕๔๒ – ปัจจุบัน)

ภาพมุมสูง

 

คลิ๊กเพื่อนำทาง