ปราสาทศรีขรภูมิ  Prasat Sikhoraphum

ปราสาทศีขรภูมิ หรือปราสาทระแงง (ชื่อเดิมตั้งตามชื่อตำบล) เชื่อกันว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นปราสาทหินที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมกันระหว่างขอมแบบบาปวนกับแบบนครวัด สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายตามวัตถุประสงค์ของหารสร้างปราสาทหินในสมัยเดียวกัน ตัวปราสาทหินถูกล้อมด้วยคูน้ำ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสูงประมาณ 1 เมตร

ปราสาทศีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ทีมุมทั้งสี่สร้างบนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออกเช่นกัน

ปรางค์ทั้ง 5 องค์ มีลักษณะเหมือนๆ กันคือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฎราช(พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่นมีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล

ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง 2 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ลวดลายทับหลังซึ่งสมบูรณ์มาก

จากลวดลายทีเสารและทับหลังของปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทั้ง 4 องค์ มีลักษณะปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ.1550-1650) และแบบนครวัด ( พ.ศ.1650-1700) จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที 17 หรือต้นสมัยนครวัด โดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ใน ราวพุทธศตวรรษที่ 22 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ที่ตั้ง ตำบล ระแงง อำเภอ ศีขรภูมิ สุรินทร์ 32110

เวลาทำการ 07.30-18.00 น.

อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย คนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท