ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

Wat Ming Mueang Wiang Subdistrict, Mueang Chiang District, Rai Chiang Rai Province

ความเป็นมา

วัดมิ่งเมือง เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยพญามังรายมหาราช เมื่อ ๗๐๐ กว่าปีผ่านมา โดยผู้สร้างคือ พระนางอั๊วะมิ่งจองเมือง (เจ้าย่าเทพคำข่าย) เจ้าหญิงจากราชสำนักไทยลื้อ แห่งเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา(มลฑลยูนนานของจีนในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพญามังรายฯ และมายุคหลังได้รับการบูรณะโดยพระนางอุสาปายะโคราชเทวี (ตะละแม่ศรี) พระราชเทวีของพญามังรายฯ เจ้าหญิงมอญจากเมืองหงสาวดี ที่มีพระนามปรากฎในจารึกภาษามอญบนแผ่นทองบรรจุในเจดีย์ที่พังทลาย (จากคำบอกเล่าของศรัทธาผู้อุปัฏฐากวัดมิ่งเมืองจากรุ่นสู่รุ่น) และวัดมิ่งเมืองยังเป็นวัดที่เป็นมงคลนามของเมืองเชียงราย ตั้งอยู่ในทิศมงคลตามทักษาของการสร้างเมืองในสมัยโบราณ มาในยุคหลังห้วงระยะเวลา ที่เชียงรายเป็นเมืองร้าง ชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน (เชียงตุง) ที่ถูกกวาดต้อนโดยพม่า ได้มาอาศัยบริเวณนี้เป็นที่พักพิงจึงเป็นชุมชนไทยใหญ่แห่งแรกของเชียงราย

และได้พากันมาบูรณะซ่อมแซมวัดมิ่งเมือง จึงมีศิลปะของไทยใหญ่ปรากฎอยู่ในวัดและถูกตั้งชื่อว่า (จองเวียง) คือวัดในเวียง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดช้างมูบ (ช้างหมอบ) เพราะมีบ่อน้ำโบราณศิลปะไทยลื้อแบบสิบสองปันนาอยู่ข้างกำแพงด้านทิศตะวันออก และมีรูปปั้นช้างหมอบทรงเครื่อง อยู่บนบ่อน้ำ เพราะในยุคก่อนสร้างเมืองเชียงรายบริเวณนี้เป็นหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์และเป็นที่อาศัยของโขลงช้างมาอาบน้ำเล่นน้ำและนอนพักในที่นี้ จึงทำให้ชาวบ้านเรียกว่า วัดช้างมูบ ตั้งแต่นั้นมา และยังเป็นวัดที่พญามังรายมหาราช เสด็จมาจุดผางประทีปบูชา ปีละสองครั้ง คือ วันวิสาขบูชา และวันยี่เป็ง (วันลอยกระทง) เพื่อสักการะพระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของพระนางเทพคำข่ายพระราชมารดาของพระองค์ที่ได้อัญเชิญมาบรรจุไว้ที่นี้

พระครูโสภณศิลปาคม

เจ้าคณะตำบลเวียงเขต ๑ / เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง