ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

Wat Phra That Jom Thong Ban Tom Sub-district, Muang Phayao District, Phayao Province

ประวัติวัดพระธาตุจอมทอง

พระธาตุจอมทอง หรือพระธาตุเจ้าจอมทอง เป็นพุทธสถานที่สำคัญอย่างยิ่งของเมืองพะเยาและอาณาจักรล้านนา กล่าวคือ พระธาตุจอมทองเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่มีอายุยาวนานและเคียงคู่มากับประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยาตั้งแต่ครั้งสร้างบ้านแปลงเมืองของผู้คนในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง โดยนับตั้งแต่สมัยแคว้นพะเยา สมัยอาณาจักรล้านนาของชาวโยน (ยวน) จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจประเมินช่วงอายุได้ประมาณ ๕๐๐ – ๗๐๐ กว่าปี

การหุ้มทองและสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบองค์พระธาตุ

ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ ครูบาเทือง นาถสีโล เจ้าอาวาสวัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำคณะผู้มีจิตศรัทธาทำการหุ้มทองจังโก๋ซึ่งเป็นศิลปะสกุลช่างเชียงใหม่ และสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุไว้อย่างวิจิตรงดงาม พร้อมทั้งมีการถวายพระพุทธรูปสำริด (พระเจ้ายิ้ม) ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ 

ภายในบริเวณเขตวัด แบ่งออกเป็น เขตพุทธาวาส ประกอบด้วย พระธาตุ พระวิหาร วิหารพระเจ้าทันใจ (หินทราย) ต้นศรีหรือต้นโพธิ์ ต้นจุมปาลาว และวิหารคดกำหนดขอบเขต 

เขตสังฆาวาส กุฏิที่จำวัดของพระภิกษุ และเขตอบรมปฏิบัติธรรม ประกอบด้วย โฮงหลวง (อาคารปฏิบัติธรรม) อาคารนอน นอกจากนี้ยังมีวิหารรอยพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย และบันไดนาคและซุ้มประตูที่สร้างขึ้นภายหลัง (งบพัฒนาจังหวัด) เป็นต้น

ศิลปะและรูปทรงของพระธาตุ

องค์พระธาตุจอมทององค์เดิมเป็นพระธาตุศิลปะเชียงแสนทรงระฆังคว่ำ ๘ เหลี่ยม มีขนาดเล็กกว่าองค์ปัจจุบันและมีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับพระธาตุจอมแจ้ง (วัดพระธาตุจอมกิตติ) เมืองเชียงแสน พระธาตุองค์เดิมมีการหุ้มทองจังโก้ตั้งแต่ส่วนของระฆังคว่ำถึงปลายยอด มีฉัตรจำนวน ๕ ชั้น องค์พระธาตุสูงประมาณ ๑๐-๑๒ เมตร ส่วนพระธาตุจอมทององค์ปัจจุบันเป็นเจดีย์ศิลปะล้านนา (ทรงระฆังคว่ำ) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลังกาและตกผลึกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มพระธาตุ-เจดีย์แบบล้านนาตอนปลาย (ยุคทอง) 

พระธาตุประจำเมืองและประเพณีประจำปี

พระธาตุเจ้าจอมทองได้รับความเคารพศรัทธามาอย่างยาวนาน เนื่องจากหัวเมืองสำคัญในล้านนาจะมีการยกพระธาตุสำคัญขึ้นเป็นพระธาตุประจำเมือง ประเพณีโบราณประจำวัด คือ ประเพณีถวายทาน (ตาน) น้ำต้น (คนโท) น้ำหม้อ (หม้อน้ำ) และแห่ผ้าห่มพระธาตุ เรียกว่า ประเพณี ๖ เป็ง (วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ) 

ความเชื่อและเรื่องเล่าขาน

๑. ความเชื่อเรื่องพระเจ้าทันใจ

๒. ความเชื่อเรื่องบ่อน้ำหรือถ้ำที่อยู่ใต้ฐานพระเจ้า

๓. ความเชื่อเรื่องการตั้งเหรียญอธิษฐานที่รอยพุทธบาท

๔. ความเชื่อเรื่องผีอารักษ์หรือเทวดาผู้ดูแลรักษาพระธาตุและดอยจอมทอง