ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

Wat Phra Kaew (Royal Temple) Wiang Subdistrict, Mueang Chiang Rai District, Chiang Rai Province

ความเป็นมา

วัดป่าเยี้ยะ (วัดป่าญะ) หรือวัดพระแก้ว เป็นวัดโบราณที่ไม่ปรากฎนามและปีที่สร้าง คาดว่าสร้างในราวพุทธศักราช ๑๙๗๗ หลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ในปีพุทธศักราช ๑๙๗๗ มีอสุนีบาตด้านหลังอุโบสถวัดป่าเยี้ยะ ทำให้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ชาวบ้านจึงอัญเชิญพระพุทธรูปที่พบนี้ไปประดิษฐานในพระวิหาร และได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ให้คืนดังเดิม ต่อมาปูนที่พอกองค์พระกะเทาะออกบริเวณที่เป็นพระนาสิก (จมูก) และพระกรรณ (หู) ของพระพุทธรูป ทำให้ทราบว่ามีพระพุทธรูปหินสีเขียวงดงามอยู่ภายใน หมื่นค้อม เจ้าเมืองเชียงรายในเวลานั้นได้นำความไปกราบทูลพระเจ้าสามฝั่งแกนให้ทราบ จากนั้นพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร หรือ พระแก้ว จึงกลายเป็นพระพุทธปฏิมาอันสำคัญยิ่งที่เป็นที่สักการะนับถืออย่างสูงของมหาชน และสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้อัญเชิญไปประดิษฐานในนครสำคัญต่างๆ หลายแห่ง ดังนั้นจึงสามารถประเมินได้ว่าวัดนี้มีอายุเก่าแก่กว่าปีที่พบพระพุทธปฏิมาไม่น้อย เนื่องด้วยขณะนั้นวัดป่าเยี้ยะมีเจดีย์ วิหาร และอุโบสถปรากฏอยู่ก่อนแล้ว ภายหลังการพบพระพุทธปฏิมา วัดพระแก้วจึงกลายเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย 

เดิมวัดพระแก้วเป็นวัดราษฎร์ ครั้นสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑ นามของวัดจึงออกโดยบริบูรณ์ว่า “วัดพระแก้ว พระอารามหลวง” ตามคตินิยมการออกนามพระอารามหลวงชนิดสามัญ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถหลังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๓ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยครูบาสมณะโสภโณ ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดพระแก้วและเจ้าคณะเมืองเชียงราย โดยสร้างบนพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นวิหาร มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมศิลปะเชียงแสนที่เรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่าศิลปะแบบ “แม่ไก่กกไข่” ก่อสร้างด้วยไม้เป็นสำคัญ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ประกอบเครื่องบนทั้งช่อฟ้า ใบระกา ผนังด้านในทาสี มีประตูเข้าออกทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ ที่หน้าบันเป็นไม้จำหลักประดับกระจกสีตามประเพณีช่างพื้นถิ่นที่มีความงดงาม และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๕

พระเจ้าล้านทอง

พระเจ้าล้านทองเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึง ๒๒ (อายุราว ๓๐๐ ปี) ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๒ เมตร ๘๐ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปที่กล่าวกันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด มีความงดงามเป็นเลิศในบรรดาพระพุทธรูปสกุลช่างศิลปะปาละวะในประเทศไทย มีลักษณะส่วนโค้งเว้าเพิ่มขึ้นกว่าพระพุทธรูปสกุลศิลปะคุปตะ และอันทรา พระพักตร์มีลักษณะยาวเป็นพิเศษ พระเนตรอยู่ในลักษณะเหลือบลงต่ำแบบของสมาธิ พระนาสิกโด่งยาว พระขนงไม่มีสัน พระโอษฐ์บางและเน้นเส้นหนัก พระหนุทำเป็นสองชั้น มีพุทธลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากสกุลช่างอื่น

พระเจดีย์

พระเจดีย์วัดพระแก้ว พระอารามหลวงในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยมยกเก็จประดับลวดบัวเส้นบนสองเส้นและเส้นล่างสองเส้นวางอยู่บนชุดฐานบัวถลาแปดเหลี่ยมยกเก็จสองชั้นและฐานเขียงแปดเหลี่ยมยกเก็จสามชั้นลดหลั่นกันเหนือฐานปัทม์ขึ้นไปเป็นชุดฐานเขียงแปดเหลี่ยมยกเก็จสามชั้น แล้วต่อด้วยชุดบัวถลาแปดเหลี่ยมยกเก็จห้าชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยลวดบัวขนาดใหญ่หนึ่งเส้น ท้องไม้ที่หน้ากระดานถัดขึ้นเป็นชุดกลีบบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์เจดีย์ทรงระฆัง ประดับเส้นลวดบัวแบบแปดเหลี่ยมรัดรอบบริเวณกลางองค์ระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ทรงสูงปล้องไฉนขนาดใหญ่เก้าขั้น รองรับปลียอดและฉัตรเก้าชั้น เหนือสุดประดับลูกแก้ว

หอพระหยกเชียงราย

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ เป็นปีที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา มร.ฮูเวิร์ล โล นำหยกขนาดใหญ่จากประเทศแคนาดามาถวายเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย คณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายได้เห็นพ้องตกลงจัดทำโครงการสร้างพระแก้วหยกขึ้นจากก้อนหยกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเป็นอนุสรณ์ว่า วัดพระแก้วแห่งนี้เคยเป็นที่ค้นพบพระแก้วมรกตมาก่อน แต่ด้วยข้อจำกัดในสมัยนั้น คณะผู้จัดทำจึงส่งแบบพระพุทธปฏิมาที่อาจารย์กนก วิศวะกุล ปั้นขึ้นไปให้นายช่างชาวจีนผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้สลักสำเร็จซึ่งมีขนาดใกล้เคียงแต่เป็นรองพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ครั้นวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนามพระพุทธรูปหยกว่า “พระพุทธรตนากรนวุติวัสสานุสรณ์มงคล” ถอดความได้ว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นอากรแห่งรัตนะ และพระราชทานนามสามัญว่า พระหยกเชียงราย

สำหรับสถานที่ประดิษฐานพระหยกเชียงรายนั้น ได้จัดสร้างขึ้นเป็นหอพระ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ โดยที่ผนังของอาคารเป็นภาพจิตรกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านล้านนาที่สื่อความหมายเกี่ยวกับมูลเหตุการสร้างพระหยกเชียงรายที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และภาพชุดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต รวมจำนวน ๙ ภาพ เมื่อการดำเนินการก่อสร้างหอพระและการประดิษฐานพระหยกเชียงรายแล้วเสร็จ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเปิดหอพระนี้เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ คราวเดียวกับที่เสด็จมายกยอดฉัตรพระเจดีย์

โฮงหลวงแสงแก้ว

โฮงหลวงแสงแก้ว เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๘ ตั้งอยู่ริมกำแพงวัดด้านทิศใต้ เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัด เก็บรวบรวมปูชนียวัตถุ วัตถุทางศาสนา ตลอดจนสิ่งของที่พุทธศาสนิกชนนำมาถวายวัดพระแก้ว พระอารามหลวง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าสำหรับประชาชน ตลอดจนอนุชนรุ่นหลัง ที่สำคัญคือ เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญสมัยเชียงแสน สร้างด้วยสำริดปิดทอง ประดิษฐานอยู่คู่กับวัดมาแต่เก่าก่อน และพระพุทธศรีเชียงราย พระพุทธศิลปะเชียงแสนที่อาจารย์เสนอ นิลเดช ประติมากรผู้มีชื่อเสียงยิ่งของเมืองไทยเป็นผู้ออกแบบ