ตามตำนานเล่าว่าเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่มีก่อนที่พ่อขุนเม็งรายจะทรงสร้างเมืองเชียงราย

วัดพระธาตุดอยจอมทอง เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ที่มีตำนานเคียงคู่มากับประวัติการสร้างเมืองเชียงราย โดยองค์พระธาตุจอมทองแห่งนี้ ไม่เพียงมีชื่อที่เป็นมงคลนามเท่านั้น หากยังเป็นเจดีย์ตามศิลปะแบบล้านนาพุกามที่หุ้มทองคำสวยงามมากทีเดียว ย้อนตำนานในอดีต มีการสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้เกิดก่อนที่พ่อขุนเม็งรายจะมาพบดินแดนบริเวณนี้และสร้างเป็นเมืองเชียงราย ในปี พ.ศ. 1815 เสียอีก โดยอ้างตามหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือพงศวดารโยนกของพระยาประชากรจักร ซึ่งกล่าวว่า เมื่อพระพุทธศาสนามีอายุราว ๆ 936 ปีแล้วนั้น มีพระเถระเจ้ารูปหนึ่ง ชื่อว่า พระพุทะโฆษา เป็นชาวโกศล ได้ออกเดินทางไปลังกาทวีป เพื่อนำคัมภีร์พระไตรปิฏกแห่งลังกาทวีปมาสู่สามัญทวีปและพุกามประเทศต่อมาก็ได้นำเข้ามาสู่โยนกนครไชยบุรีศรีเชียงแสนในอาณาจักรไทย

โดยในวันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำเดือน 6 ปีชวด พ.ศ. 1483 ท่านได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 3 ขนาดรวม 16 องค์ มาถวายแก่พระเจ้าพังคราช เจ้าเมืองโยนกนาคพันธ์ในขณะนั้น พระองค์ได้แบ่งเป็นพระธาตุขนาดใหญ่หนึ่ง ขนาดกลางสองรวมสามองค์ส่งให้พญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์ (บริเวณอำเภอเวียงชัยในปัจจุบัน) ส่วนหนึ่งบรรจุลงมหาสถูปบนดอยทอง ขนานนามว่าพระธาตุดอยจอมทอง ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บรรจุลงมหาสถูปบนดอยทองนั้นเอง พระเจ้าพังคราชก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เหลือ ไปเก็บรักษาไว้ที่ดอยน้อยซึ่งในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อวัดพระธาตุจอมกิตตินั่นเอง

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 5371 6055 นอกจากนี้ สมาคมท่องเที่ยวเชียงรายได้มีการจัดแพ็คเกจทัวร์พระธาตุ 9 จอมสนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 53601299 ที่ตั้ง : ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

การเดินทางเริ่มต้นจากห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมหาราช เข้าถนนอุตรกิจไปจนถึงสี่แยกพหลโยธิน (สายใน) เลี้ยวขวาผ่านหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสิงหไคล ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ แล้วขับตรงไปจนถึงปากทางเข้าศาลากลางจังหวัด จึงเลี้ยวซ้ายเข้าถนนไตรรัตน์ ผ่านวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาผ่านโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม เลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่งขึ้นดอยทองผ่านวัดงำเมืองไปประมาณ 350 เมตร ก็จะถึงปากทางขึ้นพระธาตุดอยจอมทอง