ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

Wat Che Tu Phon (San Khong Noy) Rob Wiang Subdistrict, Mueang Chiang Rai District, Chiang Rai Province

ความเป็นมา

วัดเชตุพน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๓ บ้านสันโค้งน้อย ถนนราชโยธา ซอย ๓ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ มีครูบาสุยะเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ซึ่งได้ตั้งชื่อว่า “วัดเชตุพน” เท่าที่ทราบ มีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมา ๙ รูป และเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระครูวิจิตรธรรมาภิรักษ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา 

ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ

พระวิหาร(อุโบสถ) เริ่มแรกพระวิหารตั้งอยู่ภายนอกวัดสร้างแบบก่ออิฐถือปูนหลังขนาดเล็ก ต่อมามีการตัดถนน จึงย้ายพระวิหารถอยเข้าไปสร้างใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้วเสร็จ และฉลองในปี พ.ศ. ๒๕๐๕

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ วิหารชำรุดเสียหายยากจะบูรณะขึ้นใหม่ อย่างสวยงามยิ่งโดยช่างทวี บุญตัน ภายใต้การเอาใจใส่ดูแลของพระครูวิจิตรธรรมาภิรักษ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันที่ทำให้พระวิหารของของวัดเชตุพนงดงามในสายตาผู้พบเห็น

พระพุทธเชตุพนมงคลรักษ์ คือ พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังปัจจุบัน เป็นพระประธานองค์เดิมจากวิหารหลังเก่า เมื่อมีการสร้างวิหารได้ย้ายพระออกมาทำให้องค์พระชำรุด ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ให้ช่าง คือ สล่าแขกช่อมทำยกหน้า (พระพักตร์) และเสริมองค์ให้ใหม่ให้ดูเด่นเป็นสง่าและสวยงาม ควรค่าแก่การบูชากราบไหว้ยิ่งขึ้น ทำแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พร้อมกับพระวิหาร

พระธาตุเชตุพนมงคลรัตนะ เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นใหม่ด้านหลังพระวิหาร ทำการวางศิลาฤกษ์ โดยพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พระธาตุมีฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส บรรจุพระธาตุที่ได้รับเมตตาบารมีมาจากพระสุพรหมยานเถระ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นพระธาตุขนาดเมล็ดข้าวสาร ๑๐๘ องค์ ขนาดเมล็ดถั่วเขียว ๓ องค์ ขนาดเมล็ดถั่วดำ ๒ องค์ กับพระรอดเชตุพน ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุไว้ เสร็จทำการฉลองใน พ.ศ. ๒๕๒๓ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ก่อกำแพงแก้วโดยรอบและทาสีองค์พระธาตุใหม่ให้ดูดีขึ้น 

ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์โบราณ

ได้ระลึกรู้ถึง เข้าใจในศิลปวัฒนธรรมของไทยตั้งแต่โบราณมา และต้องการสืบสานรักษาไว้ให้คงอยู่เพื่อให้คนรุ่นหลังต่อไปได้ตระหนักถึงความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ เกิดความหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ตกทอดมานั้น จึงได้ให้ช่างมาแกะสลักบานประตู บานหน้าต่าง อุโบสถ (วิหาร) ออกมาในแนวภาษิต คำคมโบราณ ทำซุ้มประตูเข้าโบสถ์ (วิหาร) เป็นลายปูนนั้นแบบโบราณ สร้างกุฏิและหอพระไตรปิฎกในแบบศิลปะพื้นเมืองทางเหนือเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้ปรากฎเป็นเกียรติประวัติสืบต่อไป