ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

Wat Rong Fong Rong Fong Subdistrict, Mueang Phrae District, Phrae Province

ที่ตั้ง

วัดร่องฟอง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๑ บ้านร่องฟอง หมู่ที่ ๔ ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑๐ ตารางวา

อาณาเขต

ทิศตะวันออก ติดถนนสาธารณะ

ทิศเหนือ ติดคลองน้ำร่องฟอง

ทิศตะวันตก ติดถนนสาธารณะ

ทิศใต้ ติดถนนสาธารณะ และโรงเรียนบ้านร่องฟอง

ประวัติความเป็นมา

วัดร่องฟอง สันนิฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๐ โดยก่อนปี พ.ศ. ๒๓๙๐ มีการตั้งหมู่บ้านครั้งแรกทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านปัจจุบัน คือ บริเวณถนนใหญ่สายยันตรกิจโกศลแพร่-น่าน (สี่แยกร่องฟองในปัจจุบัน) ขณะนั้นมีประชากรประมาณ ๓๐ ครัวเรือนมาตั้งรกราก จนกระทั้งปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ชาวบ้านจึงย้ายหมู่บ้านขึ้นไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๙๐๐ เมตร และมีราษฎรจากถิ่นอื่น ๆ เข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้น เมื่อมีคนอาศัยจำนวนมากจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดตามคตินิยมของชาวพุทธ วัดร่องฟองจึงเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ซึ่งจากหลักฐานที่ค้นพบในคัมภีร์ใบลานของวัดร่องฟอง จุลศักราช ๑๒๐๘ มีการกล่าวถึงชื่อวัดที่มีสร้อยนามต่างกันไป เช่น วัดสรีปุงร่องฟองน้ำนองไหล วัดร่องฟองดงสงัดตั๋น วัดร่องฟองแก้วกว้างท่าท้างถนนหลวง และชื่อสร้อยนามอีกหลายแบบ ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์การสร้างวัดร่องฟองและการศึกษาธัมม์จารธัมม์มีอายุล่วงมาไม่น้อยกว่า ๑๗๓ ปี จึงทำให้วัดแห่งนี้มีประวัติที่น่าศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะคัมภีร์ธัมม์ใบลาน เพราะสามารถบอกกาลเวลาได้ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น พระประธานในอุโบสถศิลปะพื้นบ้านปูนปั้นลงรักปิดทองผ่านการบูรณะมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ สมัย พระพุทธรูปไม้ เป็นต้น

มูลเหตุที่ชื่อ ร่องฟอง เพราะมีการตั้งถิ่นฐานในภูมิประเทศลักษณะเป็นทุ่งนาติดแนวป่าแพะเมืองผี มีน้ำไหลผ่านจากภูเขาด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน คือ น้ำแม่แคม แยกสายมาเป็นน้ำร่องฮ่าง และบริเวณร่องน้ำลึกช่วงหนึ่งก่อนถึงหมู่บ้านด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นฟอง ยิ่งฤดูน้ำหลากยิ่งมีฟองมาก ชาวบ้านละแวกตำบลบ้านถิ่น ตำบลเหมืองหม้อ ตำบลน้ำชำ และตำบลทุ่งโฮ้ง มักเรียกบริเวณนี้ว่า ร่องฟอง จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านและชื่อวัด 

รายนามเจ้าอาวาส ดังนี้

๑. ตุ๊หลวงสุรินทร์ พ.ศ. ๒๓๙๐ – ๒๔๒๖

๒. ตุ๊หลวงนวล พ.ศ. ๒๔๒๖ – ๒๔๔๐

๓. พระอธิการแก้ว อินฺทวํโส (กันทวงศ์) พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๕๐๕

๔. เจ้าอธิการแห สุจิตฺโต พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๖

๕. พระครูบวรธรรมกิติ์ (นิคม ฐิตปุญฺโญ) พ.ศ. ๒๕๑๗ – ปัจจุบัน

เสนาสนะภายในวัด

๑. อุโบสถ ศิลปะล้านนาประยุกต์ ออกแบบและก่อสร้างโดยพระครูบวรธรรมกิติ์ เจ้าอาวาสวัดร่องฟอง

๒. ศาลาเจดีย์ ศิลปะล้านนาประยุกต์ ๓ ชั้น ใช้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลในโอกาสต่างๆ 

๓. หอศิลป์วัฒนธรรมสารสนเทศ ICT โรงเรียนบวรวิชชาลัย วัดร่องฟอง ใช้เป็นที่ถ่ายทอดและรวบรวมผลงานช่างพุทธศิลป์ฯ

๔. โรงเรียนบวรวิชชาลัย