ตําบลบ้านหวด อําเภองาว จังหวัดลําปาง

Wat Chong Kham Phra Aram Luang Ban Huat Subdistrict, Ngao District, Lampang Province

ความเป็นมา

ตามหลักฐานที่ปรากฏ วัดจองคํา สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ซึ่งเป็นสมัยของเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต เจ้าผู้ปกครองนครลําปางองค์สุดท้าย โดยกลุ่มคหบดีชาวไทยใหญ่ที่ทํางานในบริษัท บอมเบย์ พราซ่า (Bombay Prasa Company) ซึ่งเป็นบริษัทของชาวอังกฤษที่เข้ามารับสัมปทานทําป่าไม้ในเขตอําเภองาว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีไม้สักทองที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของภาคเหนือ พวกเขาเกิดศรัทธาร่วมกันสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ทําบุญและยึดเหนี่ยวจิตใจ และตั้งชื่อว่า “วัดจองคํา” จากนั้นได้กราบอาราธนา พระนันโท เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

ความหมายของชื่อวัด

คําว่า “จองคํา” เป็นภาษาไทยใหญ่มาจากคําสองคํา คือ คําว่า “จอง” แปลว่า วัด วิหาร อาราม และคําว่า “คํา” แปลว่า “ทอง” เมื่อรวมกันจึงแปลว่า “วัดทองคํา” ซึ่งมีความหมายว่า วัดที่สง่างามรุ่งเรืองดุจทองคํา และผู้สร้างเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวย มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนาเปรียบเหมือน ทองคํา เพราะไม่ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานเท่าไรก็ยังคงฉายรัศมีแวววาวดังเดิม

ย้ายที่ตั้งวัด

เนื่องจากบริเวณที่ตั้งเดิมของวัดประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยการนําของพ่อเลี้ยงพะกะหม่อง หมอกเรืองใส และพ่อเลี้ยงญาณะ มาลาโยง พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดและผู้มีจิตศรัทธา ได้ประชุมตกลงย้ายวัดลงมาสร้างใหม่ ณ บริเวณใกล้ที่ตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบลบ้านหวดในปัจจุบัน

ยุครุ่งเรือง

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พ่อเลี้ยงพะกะหม่อง หมอกเรืองใส และพ่อเลี้ยงญาณะ เมาลาโยง พร้อมด้วยประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างพระวิหารหลังใหญ่ศิลปะแบบล้านนา มีมุขและปราสาท ๕ หลัง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๓ ปี และได้จัดงานฉลองพระวิหารในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ในช่วงเวลาที่กําลังก่อสร้างพระวิหารอยู่นั้น พระนันโท เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ ได้ลาสิกขาไป หลังจากสร้างพระวิหารจนแล้วเสร็จ คณะศรัทธาจึงได้กราบอาราธนา พระเญยยธัมโม มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ แต่หลังจาก พระเญยยธัมโมดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ปีเศษก็มรณภาพลง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พ่อเลี้ยงพรหมมินทร์ กาญจนวงศ์ พร้อมด้วยพ่อเลี้ยงองค์ไก่ กาญจนวงศ์ บุตรชาย ได้สร้างพระพุทธเจดีย์ถวาย มีเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลางฐาน และเจดีย์องค์เล็ก ๔ องค์อยู่ตามทิศทั้ง ๔ มุม ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๒ ปี และได้จัดงานฉลองในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยยกยอดฉัตรเจดีย์ทั้ง ๕ องค์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พ่อเลี้ยงองค์ไก่ กาญจนวงศ์ ได้สร้างศาลาการเปรียญถวาย ๑ หลัง และในปีเดียวกันนั้น พระเญยยธัมโม เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ก็มรณภาพลง หลังจากนั้น คณะกรรมการวัดและทายกทายิกาจึงได้อาราธนา พระคันธมา มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓

ยุคทรุดโทรม

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นับเป็นปีสําคัญในประวัติศาสตร์ของวัด เพราะพระวิหารหลังใหญ่ของวัดได้ถูกย้ายไปปลูกสร้างที่เมืองโบราณสมุทรปราการ และต่อมาไม่นาน พระคันธมา เจ้าอาวาสก็ได้มรณภาพลง หลังจากนั้นไม่มีพระภิกษุมาอยู่จําพรรษาถาวร มีแต่พระภิกษุมาพํานักอยู่เป็นครั้งคราว ทําให้เสนาสนะภายในวัดขาดการดูแลรักษาและทรุดโทรมลงตามลําดับ

ยุคพัฒนา

ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ คุณเจ้าภาพ เมืองพระ พร้อมด้วยคณะกรรมการวัด และทายกทายิกา ได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณหลวงปู่พระเทพปริยัติมงคล สมัยที่ยังเป็นครูบาโอภาส โอภาโส มาอยู่จําพรรษา เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่รับนิมนต์มาจําพรรษาที่วัดจองคําซึ่งมีสภาพเป็นวัดร้าง ในขณะนั้นวัดมีเนื้อที่เพียง ๓ ไร่ สภาพรกร้างมีแต่ตอไม้และหญ้าขึ้นปกคลุมบริเวณพื้นที่ สิ่งปลูกสร้างเดิมมีสภาพปรักหักพัง ยกเว้นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน และสมัยสุโขทัยที่ประดิษฐานงดงามอยู่ ด้วยสภาพเช่นนั้นจึงยากที่จะมาจําพรรษาอยู่ แต่ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าและความมุ่งมั่นในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา พระเดชพระคุณหลวงปู่จึงได้ลงมือแผ้วถางพื้นที่โดยรอบ และเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ขึ้นก่อน ซึ่งเปรียบเหมือนหลักชัยของพระพุทธศาสนา

ด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม

วัดจองคํา พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๒๑ หมู่ที่ ๒ ถนนพหลโยธิน (สายเอเชีย) ตําบลบ้านหวด อําเภองาว จังหวัดลําปาง ปัจจุบันมีสถานะเป็นพระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ แบ่งออกเป็น ๓ แปลง คือ 

แปลงที่ ๑ เป็นรูป ๑๐ เหลี่ยม เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์สิทธิชัยมงคล พระอุโบสถศาสนวิบูลการี พระวิหารชัยภูมิ ศาลาการเปรียญ (น้ำใจโสภณ เมตตานุการี) หอสมุดอาทรปชากิจ และกุฏิสงฆ์ต่าง ๆ 

แปลงที่ ๒ เป็นรูป ๖ เหลี่ยม เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญนพมุตตมานุสรณ์ปริยัติสุนทรรังสฤษฎี โรงเรียนพระปริยัติธรรมสาสนปชานุสนธิ์ อาคารเรียนเพิ่มเติม กุฏิปริยัติรังสี และบ่อน้ำบาดาล 

แปลงที่ ๓ เป็นรูป ๑๐ เหลี่ยม เป็นที่ตั้งของพระมหาเจดีย์พุทธคยา พระวิหารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และบ่อน้ำบาดาล

เนื้อที่ของวัดมีลักษณะเป็นที่ราบสลับเนินเขา เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบจึงมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีลําห้วยธรรมชาติกั้นที่ดินทั้ง ๓ แปลง เนื่องจากญาติโยมได้ถวายที่ดินเพิ่มเติม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทางวัดได้รับถวายที่ดินแปลงที่ ๒ เพื่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมสาสนปชานุสนธิ์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพิ่มเติมบริเวณด้านทิศตะวันตกอีก ดังนั้น อาณาเขตของวัดจองคําแห่งนี้จึงขยายกว้างออกไปดังที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ 

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดสถานีอนามัยตําบลบ้านหวดและที่ดินของเอกชน

ทิศใต้ ติดที่ดินของเอกชน

ทิศตะวันออก ติดถนนพลโยธิน (สายเอเชีย)

ทิศตะวันตก ติดที่ดินของเอกชนและทางสาธารณประโยชน์

ลําดับเจ้าอาวาส

๑. พระนันโท พ.ศ. ๒๕๔๖ – ๒๔๗๔

๒. พระเญยยธัมโม พ.ศ. ๒๕๗๕ – ๒๔๗๙

๓. พระคันธมา พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๕๑๗

๔. พระเทพปริยัติมงคล พ.ศ. ๒๕๒๔ – ปัจจุบัน (โอภาส โอภาโส น.ธ.เอก, ศน.ด., พธ.ด., ค.ด. กิตติมศักดิ์)

พระเทพปริยัติมงคล เจ้าอาวาสวัดจองคำ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖