ที่ตั้ง
แพะเมืองผี ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลน้ำซำ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยอยู่ห่างจากอำเภอเมืองแพร่ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของวนอุทยานแพะเมืองผี สำนักงานส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 การเข้าถึงพื้นที่ทำได้โดยใช้เส้นทางหลวงสายแพร่-ร้องกวาง ออกจากตัวเมืองไปถึงหลักกิโลเมตรที่ 9 จะมีเส้นทางแยกขวาเข้าบ้านน้ำซำ ไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงวนอุทยานแพะเมืองผี ลักษณะของแหล่ง
แพะเมืองผี เป็นเนินที่พังยุบลงไปเป็นแอ่ง คล้ายแอ่งกระทะหงาย มีขนาดความกว้างประมาณ 30 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร ขอบแอ่งด้านทิศตะวันตกเป็นหน้าผาที่มีต้นไม้เตี้ยๆ ปกคลุม มีความสูงไม่แน่นอน คือ สูงตั้งแต่ 6 ถึง 14 เมตร หน้าผามีความลาดชันลดระดับลงมาทางด้านตะวันออกเข้าสู่ภายในแอ่ง โดยลดระดับลงมาอยู่ที่ความสูง 2-3 เมตร ภายในแอ่งมีโคกหรือเนินสูงๆ ต่ำๆ ไม่ต่อเนื่องกัน เกิดจากการพังทะลายที่ไม่สม่ำเสมอกันของชั้นตะกอน ทำให้เนินที่เหลือมีลักษณะเป็นแท่งคล้ายเสา เป็นโคกรูปร่างคล้ายจอมปลวก คล้ายดอกเห็ด หรือบางเนินคล้ายสะพานโค้ง ดูแปลกประหลาด จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ
คำว่า “แพะเมืองผี” เป็นภาษาพื้นเมือง แพะ แปลว่า ป่าละเมาะหรือป่าโปร่ง เมืองผี หมายถึง ความรู้สึกที่ดูเงียบ วังเวงเหมือนเมืองผี เมื่อรวมกันจึงแปลว่า ป่าละเมาะที่เงียบวังเวงเหมือนเมืองผี ธรณีวิทยาและการเกิดแพะเมืองผี
ธรณีวิทยาของแพะเมืองผี ประกอบด้วยตะกอนที่ยังไม่แข็งตัวเป็นหิน 2 ชนิด คือ
ตะกอนชั้นล่าง เป็นตะกอนเม็ดเล็กละเอียด ประกอบด้วย ดินเหนียวปนทรายเม็ดละเอียด มีสีเทา และมีจุดประสีน้ำตาล และน้ำตาลปนเหลือง บางบริเวณมีตะกอนทรายหยาบแทรกเป็นชั้น ตะกอนชั้นนี้ปรากฏร่องรอยการถูกกัดเซาะให้เป็นริ้วและร่องมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากมีดินเหนียวเป็นส่วนประกอบอยู่มาก นอกจากนี้ตามผิวของเสาดินเหนียวจะพบก้อนปูนพอก (Lime concretion) ก้อนกลม ๆ ปะปนอยู่ในเนื้อด้วย
ตะกอนชั้นบน เป็นตะกอนเม็ดหยาบ มีการวางตัวเป็นแนวชั้น ตะกอนประสานเกาะตัวกันเป็นชั้นแข็ง และมีผิวภายนอกเป็นสีน้ำตาลแดงถึงดำ ประกอบด้วย ชั้นล่างสุด เป็นชั้นตะกอนกรวดและทรายปนดินเหนียว มีชั้นเฉียงระดับ (Cross-bedding) และมีชั้นบาง ๆ (Lamination) ปรากฏให้เห็น กรวดเป็นควอรตซ์ เชิร์ต หินทรายและหินดินดาน มีน้ำเหล็กหรือแมงกานีสเคลือบประสาน ทำให้เป็นชั้นแข็ง วางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันตก ถัดขึ้นไปเป็นชั้นตะกอนทรายปนดินเหนียว มีก้อนกรวดแทรก ถัดขึ้นต่อไปอีกคือตะกอนชั้นบนสุดของแพะเมืองผี เป็นชั้นกรวดที่มีควอรตซ์สีขาวและ ลูกรังเนื้อแข็งแทรก ทำให้เกิดเป็นชั้นแข็ง ตะกอนชั้นนี้รองรับชั้นตะกอนทรายละเอียด สีแดง มีเศษใบไม้ รากไม้และถ่านไม้แทรกในเนื้อ ซึ่งจัดเป็นตะกอนผิวดิน
แพะเมืองผีที่จังหวัดแพร่แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 30,000 ปีที่แล้วมา ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นลักษณะธรณีสัณฐาน (Landform) ของการสึกกร่อนที่เกิดขึ้นกับชั้นตะกอนที่สะสมใหม่ ยังไม่จับตัวกันจนแน่นแข็งเป็นชั้นหิน ภูมิประเทศซึ่งเกิดจากการสึกกร่อนแบบนี้ มักจะมีความสัมพันธ์กับธรณีแปรสัณฐาน (Geotectonics) หรือการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ทำให้พื้นที่สะสมตัวของตะกอนใหม่ยกตัวขึ้นสูงกว่าระดับข้างเคียง น้ำซึ่งเป็นตัวการทำลายที่สำคัญ จึงได้กัดเซาะให้พื้นที่สึกกร่อนผุพังลง การสึกกร่อนอย่างกว้างขวางของเนินตะกอนแพะเมืองผีเกิดจากมีต้นไม้ปกคลุมพื้นดินน้อยลงร่วมกับกิจกรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีหลักฐานของการเข้าอยู่อาศัยในบริเวณนี้