ตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

Wat Phra Phutthabat Phanom Din Tha Tum Subdistrict, Tha Tum District, Surin Province

ความเป็นมา

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้มีพระมหาเถระกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วย พระอนุกูลธรรมวิทย์ (หลวงปู่พิมพ์ วัดปทุมทอง) หลวงปู่สัมฤทธิ์ วัดพรมเทพ พระครูสิริธรรมคุต (หลวงปู่ศรี ฐิตธมฺโม วัดจำปาหนองบัว) พระครูวรรณรังษีโสภณ (หลวงปู่เขียน วัดจอมพระ) หลวงพ่อแสง (วัดบ้านโพนดวน) หลวงพ่อเทพ วัดบ้านโพนโก มีความคิดเห็นตรงกันว่าจะสร้างเขาดินแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมประจำอำเภอท่าตูมจึงได้พากันมาถางป่าเขาดินแห่งนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างนับตั้งแต่บัดนั้น 

หลวงพ่อพระครูประภัศร์คณารักษ์ (หลวงพ่อมหาจันทร์ ปภสฺสโร วัดโพธิ์พฤกษาราม) ได้ดูแลต่อจากหลวงพ่อบุญศรี และนำพาพระภิกษุสามเณรถางป่าเพื่อสร้างมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลอง  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงพ่อพระครูประภัศร์คณารักษ์ ได้นำพาประชาชนชาวอำเภอท่าตูมสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง และนำมาประดิษฐานไว้ ณ มณฑป ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆะบูชา จึงมีการจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาทขึ้น และกลายเป็นประเพณีประจำปีของชาวอำเภอท่าตูมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงพ่อพระครูประภัศร์คณารักษ์ ได้นิมนต์หลวงปู่ธรรมรังษีมาที่วัดเขาดินแห่งนี้เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ และได้ตั้งสมญานามว่า “ฤาษีพนมดิน” ซึ่งถือเป็นปฐมเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทพนมดิน รูปที่ ๑ มีนามว่า พระมงคลรังษี (หลวงปู่ธรรมรังษี) อันเป็นที่เคารพนับถือสักการะบูชาของศิษยานุศิษย์ทั่วทุกสารทิศ และด้วยเมตตาธรรมอันเปี่ยมล้นของหลวงปู่ธรรมรังษี สามารถทำให้วัดพระพุทธบาทพนมดินเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมจนเจริญรุ่งเรืองดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทพนมดิน

๑. พระมงคลรังษี (สุวัฒน์ จนฺทสุวณฺโณ) หลวงปู่ธรรมรังษี ดำรงตำแหน่งวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ถึง ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ 

๒. พระครูพนมวันจันทสาร (ธีรภพ จนฺทสุวณฺโณ) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุ

๑. พระมหาเจดีย์พนมดิน

๒. พระพุทธนิมิตศรีมงคล (หลวงพ่อใหญ่)

๓. พระพุทธศุภนิมิตศรีมงคล (พระนอน)

๔. พระพุทธสุวรรณรัตนคีรีศรีมงคล (หลวงพ่อโต)

๕. มณฑป

๖. อนุสรณ์สถานหลวงปู่ธรรมรังษี

๗. ปราสาทพนมดิน

๘. อาศรมปู่ฤาษีตาไฟ

เสนาสนะ

๑. อุโบสถ

๒. กุฏิ

๓. ศาลาการเปรียญ 

๔. วิหาร- ลานธรรม

๕. สระโบราณ  (วังบาดาลบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์)

๖. ศาลาอเนกประสงค์

ประวัติหลวงปู่ธรรมรังษี ” ท่านเจ้าคุณสองแผ่นดิน “ 

นามเดิม นายสุวัฒน์ ฉิง 

เกิดเมื่อ วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ณ ตำบลเกีย อำเภอโมงฤษี (อำเภอโมงรือแซ็ยในปัจจุบัน) จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
บรรพชาและอุปสมบท

เมื่อท่านอายุ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ๑ พรรษา และเมื่ออายุครบ ๒o ปี จึงได้อุปสมบทในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดเวฬุวนาราม ตำบลเกีย อำเภอโมงรือแซ็ย จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา มีฉายาธรรมว่า “ธรรมรังษี ” 

หลวงปู่ธรรมรังษี ได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานควบคู่กับการศึกษาพระเวทวิทยาคมชั้นสูงจากพระเกจิอาจารย์หลายรูปในประเทศกัมพูชา ตลอดระยะเวลา ๓๕ ปี (ถึงอายุ ๕๕ ปี) ควบคู่กับการปฏิบัติกรรมฐานจนมีวิชาแก่กล้าและเชี่ยวชาญหลายแขนง และได้หันมามุ่งเน้นการปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจังเพียงอย่างเดียวจนได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูธรรมรังสี” เจ้าคณะอำเภอโมงรือแซ็ย 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชา หลวงปู่จึงพาญาติโยมและพระลูกวัดอพยพหนีร้อนมาพึ่งเย็นที่ประเทศไทย 

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านพระครูประภัศร์คณารักษ์ (จันทร์ ปภัสสโร) เจ้าคณะอำเภอท่าตูมในสมัยนั้นได้พบหลวงปู่ธรรมรังษี และนิมนต์หลวงปู่ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทพนมดิน 

เมื่อวันที่ ๙ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ หลวงปู่ธรรมรังสีได้ละสังขาร สิริอายุ ๘๗ ปี ๖ เดือน ๓ วัน สังขารของหลวงปู่ธรรมรังษี บรรจุโลงในปราสาทศิลปะเขมร โดยสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อยแม้จะดับขันธ์ไปแล้วก็ตาม คณะกรรมการวัดพระพุทธบาทบาทพนมดินได้มีมติจัดสร้างปราสาทเพื่อเป็นที่บรรจุสรีระสังขารหลวงปู่ธรรมรังษี และเก็บสังขารหลวงปู่ไว้จนถึงวันที่ ๕ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ธรรมรังษี

สมณศักดิ์

-ได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูธรรมรังสี” เจ้าคณะอำเภอโมงรือแซ็ย

-ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมวิริยาจารย์ กัมพูชา” ในวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕

-ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ “พระครูมงคลธรรมวุฒิ” ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

-ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระมงคลรังษี ” ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗