ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

Wat Pho Sawang Phon Khrok Phon Khrok Subdistrict, Tha Tum District, Surin Province

ที่ตั้ง

วัดโพธิ์สว่างโพนครก ตั้งอยู่บ้านโพนครก เลขที่ ๑๙๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒๒ ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒ แปลง มีเนื้อที่รวม ๗ ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

พระพุทธประทานพร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘

อาณาเขตวัด

ทิศเหนือ จรดที่ดินนางบุญเลี้ยง หล่าบรรเทา และนางสาวอั้ว แก้ววัน

ทิศใต้ จรดทางหลวงชนบทโพนขวาว-ขี้เหล็ก

ทิศตะวันออก จรดที่ดินนางบรรเพ็ญ เพชรวิสัย และนางพั้วสีทา

ทิศตะวันตก จรดทางสาธารณประโยชน์

ความเป็นมา

วัดโพธิ์สว่างโพนครก สร้างขึ้นจากคณะศรัทธาประชาชนจากหมู่บ้านหมู่ที่ ๑, ๖, ๑๓ และหมู่ที่ ๑๕ ตำบลโพนครก โดยวัดก่อตั้งขึ้นราว ๑๘๐ กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ราษฎรชุมชนบ้านโพนแท่นกลุ่มหนึ่ง ได้อพยพมาตั้งหลักปักฐานจับจองพื้นที่แห่งนี้ ต่อมาเริ่มมีราษฎรจากหลายหมู่บ้านอพยพมามากขึ้นจึงเกิดเป็นชุมชนใหญ่ และมีการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเดิมชาวจะทำบุญและประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดโพธิ์สองต้น (วัดโพธิ์สว่างโพนครกในปัจจุบัน) และเมื่อมีการจัดพิธีกรรมที่บ้านจะต้องนิมนต์พระสงฆ์จากหลายวัดมาประกอบพิธี ทำให้เกิดความลำบากเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมัยนั้นเดินทางด้วยเกวียนและเดินเท้าเป็นหลัก ในปีต่อมาผู้นำหมู่บ้านในขณะนั้น และหลวงปู่มี ได้ปรึกษากับชาวบ้านชักชวนกันสร้างวัดและโรงเรียน บนเนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ และศาสนสถาน ศาสนวัตถุต่าง ๆ ขึ้น

ต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้กุฏิสงฆ์เสียหายทั้งหลัง ทำให้เอกสารต่างๆ ถูกทำลายไปด้วย คณะกรรมการ และคณะศรัทธาชาวบ้าน จึงได้ร่วมกันก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลา อุโบสถ และบูรณะอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นใหม่ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่ปรากฏภายหลังว่าเป็นวัดตกสำรวจ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พระอธิการนิเวช นิพฺภโย ได้ดำเนินการขอรังวัดพื้นที่ที่ตั้งวัด ซื้อที่ดินสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม ขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และขอเพิ่มชื่อวัดในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในชื่อวัด วัดโพธิ์สว่างโพนครก ตามกฎหมาย ตามลำดับ ปัจจุบัน พระครูโพธิพิพัฒนากร (นิเวช นิพฺภโย/พรมมี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์จำพรรษาเฉลี่ยปีละ ๘ รูป ทั้งนี้ วัดโพธิ์สว่างโพนครก เป็นวัดที่อยู่ใจกลางชุมชนในเขตบริการ ๔ หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านโพนครก หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๑๕ บ้านขี้ตุ่น หมู่ที่ ๖ และบ้านตาขีน หมู่ที่ ๑๓

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย

๑. อุโบสถ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒

๒. ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘

๓. กุฏิสงฆ์ กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙

๔. กุฏิสงฆ์ (กุฏิเจ้าอาวาส) กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕

๕. ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙

๖. หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ 

๗. ฌาปนสถาน จำนวน ๑ หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒

๘. มณฑป จำนวน ๑ หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ บรรจุรูปเหมือน และอัฐิอดีตเจ้าอาวาส, อดีตเจ้าคณะตำบลโพนครก (พระครูโพธิวโรภาส)

๙. ศูนย์ปฎิบัติธรรมเนื้อที่ ๗ ไร่ ด้านหน้าเป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กตกแต่ง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖

๑๐. เรือนเก็บพัสดุ จำนวน ๑ หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔

๑๑. โรงครัว จำนวน ๑ หลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ

๑. พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๕๑ นิ้ว สูง ๗๐ นิ้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕

๒. พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๗๐ นิ้ว สูง ๙๐ นิ้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘

๓. พระพุทธรูปปางมารวิชัยลงรักปิดทอง สมัยเชียงแสน สร้างราวปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ประดิษฐานในอุโบสถชาวบ้านเรียกพระพุทธโพธิสว่างมงคล (พระพุทธรูปคู่วัด)

๔. พระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง (หลวงพ่อสัมฤทธิ์) สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ประดิษฐานในอุโบสถ

๕. พระพุทธประทานพร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘

การบริหารและการปกครอง รายนามเจ้าอาวาส ดังนี้

รูปที่ ๑ พระมี (หลวงปู่มี)

รูปที่ ๒ พระสวน (หลวงปู่สวน)

รูปที่ ๓ พระสี (หลวงปู่สี)

รูปที่ ๔ พระครูสิริธรรมคุต พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๙๔

รูปที่ ๕ พระครูปลัดบุญมา (ทอก) พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕

รูปที่ ๖ เจ้าอธิการจันทร์ กตปุญโญ พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๘

รูปที่ ๗ พระเก้า กตสาโร พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๔

รูปที่ ๘ พระทอง ยสินฺธโร พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๙

รูปที่ ๙ พระครูโพธิวโรภาส (แสวง จิตฺตปาโล/บุญปก) พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๕๑

รูปที่ ๑๐ พระครูโพธิพิพัฒนากร (นิเวช นิพฺภโย/พรมมี) พ.ศ. ๒๕๕๒-ปัจจุบัน