วัดหนองแวง พระอารามหลวง(วัดเหนือ)
Wat Nong Waeng Phra Aram Luang (Wat Nuea)

ข่าวประชาสัมพันธ์

สถานีวิทยุพระพุทธศาสนา สพว. F.M.65 MHz วัดหนองแวง พระอารามหลวง ขอนแก่น ขอเชิญร่วมถวายกองทุนสงเคราะห์ภิกษุอาธาพ กองละ 1 บาท ประจำไตรมาศที่ 2/2565 ณ วัดป่าโมกขพลาราม ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ความเป็นมา

วัดหนองแวง เดิมชื่อ วัดเหนือ ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒ พร้อมกับ วัดกลาง และ วัดธาตุ สร้างโดย ท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ณ บ้านบึงบอน (บึงแก่นนคร) ต่อมาปีพ.ศ. ๒๓๕๔ ท้าวจามมุตร เจ้าเมืองคนที่ ๒ ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่า วัดจึงมีอีกนามว่า วัดหนองแวงเมืองเก่า

วัดหนองแวง (วัดเหนือ) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ปีพ.ศ. ๒๕๒๗ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๑ เมตร ยาว ๘๑ เมตร ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง

 

วัดมี พระมหาธาตุแก่นนคร‎ เป็นพระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๕๑ เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจาก พระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๑ ปี และมหามังคลานุสรณ์ ๒๑๑ ปีเมืองขอนแก่น พระธาตุสูง ๘๑ เมตร มีพระจุลธาตุ ๔ องค์ ตั้งอยู่ ๔ มุม และมีกำแพงแก้วพญานาค ๗ เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะทวารวดีผสมผสานศิลปะอินโดจีน

วัดหนองแวง (วัดเหนือ) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ดินที่ตั้งวัด ๒๖ ไร่ ๖๕ ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์เป็นโฉนด ๗๑๓ เลขที่ ๒๘ หน้าสำรวจ ๗๙๔ เล่มที่ ๘ หน้า ๑๓ ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบเรียบ เป็นลักษณะหกเหลี่ยม มีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด

พระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน วัดหนองแวง ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดหนองแวงเมืองเก่าซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน หรือ พระธาตุเก้าชั้น ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๕๑ เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์ จำลองแบบจากพระธาตุพนม จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๑ ปี และมหามังคลานุสรณ์ ๒๑๑ ปีเมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ ๘๑ เมตร มีพระจุลธาตุ ๔ องค์ ตั้งอยู่ ๔ มุม และมีกำแพงแก้วพญานาค ๗ เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานปากแห

เนื่องในวาระครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการสร้างพระพุทธมหาจักรแก่นนคร (พ.ศ ๒๕๑๕-๒๕๖๕) นับเป็นเวลาครบรอบกึ่งศตวรรษมาบรรจบครบพอดี นับแต่มีการจัดสร้างพระพุทธมหาจักรแก่นนคร(หลวงพ่อวัดเหนือ) โดยมีพิธีมหาพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่นเป็นเวลาถึง ๙ วัน ๙ คืน ณ วัดหนองแวงพระอารามหลวง (วัดเหนือ) การดำเนินงานเป็นไปด้วยความประณีตพิถีพิถันทุกขั้นตอนตามแบบโบราณกาล ใช้เวลาเตรียมงานกว่า ๑ ปีเต็ม ตั้งแต่การเลือกฤกษ์ยามโดยพระอาจารย์ไสว สุมโน พิธีการทางพุทธและทางพราหมณ์ ทีมผู้จัดสร้างพระโดยมีนายช่างเกษม มงคลเจริญ ตำนานช่างพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งยุค มีการนิมนต์เกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม และพระเถระสำคัญทั่วฟ้าเมืองไทยมาร่วมเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อสมโภชน์องค์พระพุทธมหาจักรแก่นนครนี้ได้เป็นเสมือนศูนย์รวมความศรัทธาของเหล่าสาธุชนทั้งหลาย ได้เคารพกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นศิริมงคลสืบไป

การจัดสร้างพระพุทธมหาจักรแก่นนครและพระเครื่องวัตถุมงคลในกาลดังกล่าวนั้น ได้สืบทอดผ่านกาลเวลายาวนานกว่า ๕๐ ปี เป็นประวัติศาสตร์ของวัดเหนืออันควรจารึกไว้ให้จดจำ เป็นกุศโลบายธรรมอันจับต้องได้เป็นรูปธรรม โดยมีนัยยะสำคัญเพื่อให้ทุกคนรำลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย แลได้ช่วยกันสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไปผ่านรูปองค์พระพุทธมหาจักรแก่นนครและวัตถุมงคลที่ได้จัดสร้างในคราวนั้น  ซึ่งในปัจจุบันนี้หาชมได้ยากยิ่ง ใครที่ครอบครองก็ต่างหวงแหนไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน เนื่องจากมีความเชื่อว่าหากบูชาแล้วก็จะเป็นศิริมงคลส่งผลแก่ชีวิตให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง

 

 

 

 

 

 

วิสัยทัศน์ พระครูปริยัติธรรมวงศ์, รศ.ดร.
เจ้าอาวาสวัดเหนือ หรือวัดหนองแวง พระอารามหลวง รูปที่ ๑๐

เบื้องต้นก่อนที่ผู้เขียนจะฉายภาพวัดเหนือหรือวัดหนองแวงในสองทศวรรษหน้าให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพนั้น ผู้เขียน “ยังมีภาพจำในวันแรกที่ตนเองเดินทางเข้ามาขออาศัยอยู่ในวัดเหนือเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๔” เพื่อศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น โดยมีคุณลุงมหาชาลี ศรีอุดม ผู้ใหญ่บ้านแหนบทอง ผู้เป็นพี่ชายโยมแม่ ซึ่งท่านเป็นมหาเปรียญ ๓ ประโยคจากสำนักเรียนวัดมงคลทับคล้อ เป็นอดีตนักเทศน์ธรรมาสก์ทอง และเป็นอดีตโฆษกแถมพรงานบุญกุศลในอาณาเขตเมืองมหาสารคาม ที่ได้นำหลานชายผู้เหมือนกับเป็นลูกตนเอง (เพราะท่านมีเฉพาะลูกสาวล้วนๆ ๖ คน) มาฝากหลวงพี่คูณ (สมณศักดิ์ตอนนั้น-พระครูธรรมสารสุมณฑ์) โดยอาศัยความผูกพันธ์กันส่วนตัวในอดีตที่เคยเทศน์โจทก์ ๒ ธรรมาสก์ด้วยกัน หลวงพี่คูณจึงรับเข้าอยู่อาศัยในวัดด้วยความยินดี โดยมอบให้พระครูสุขุมสังฆการ นำไปฝากอยู่กุฎีมัชฌิมสถิตย์กับพระอาจารย์พลเผ่า พลโท (ปัจจุบัน ผศ.ดร.พลเผ่า เพ็งวิภาศ) ซึ่งหากคุณลุงชาลียังมีชีวิตอยู่ ท่านคงชื่นชมยินดีกับบุญบารมีหลานชายที่ได้รับภาระปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงพี่คูณ ขนฺติโก ผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดเหนือ หรือวัดหนองแวง รูปที่ ๙ ที่ท่านเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง

ตลอดเวลาที่ผู้เขียนได้เข้ามาอยู่อาศัยในวัดเหนือ หรือวัดหนองแวง ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระอาจารย์คำพัน ญาณวีโร เลขานุการวัดในสมัยนั้น (ปัจจุบัน พระครูธรรมสารสุมณฑ์,ดร.) หลังจากเรียนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) จบภาคทฤษฎีแล้วก็ต้องเรียนภาคปฏิบัติอีก ๑ ปีจึงจบหลักสูตรในปีพ.ศ.๒๕๓๙ จึงได้ปฏิบัติศาสนกิจในตำแหน่งเลขานุการวัดเต็มเวลา ซึ่งพระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชนฯ ได้เริ่มก่อสร้างผ่านมาแล้ว ๑ ปีตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๓ จนถึงปีพ.ศ.๒๕๓๙ ก็เป็นปีที่ปฏิบัติศาสนกิจพอดี การก่อสร้างกำลังจะแล้วเสร็จให้ทันการฉลอง ๒๐๐ ปีเมืองขอนแก่นในปีพ.ศ.๒๕๔๐ จึงมีสร้อยนามเจดีย์ว่า “พระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน มหามงคลเทอดพระเกียรติครองสิริราชย์สมบัติครบ ๕๐ พรรษา และมหามังคลานุสรณ์ ๒๐๐ ปีเมืองขอนแก่น” เรียกสั้นๆ ว่า “เจดีย์พระธาตุ ๙ ชั้น” ซึ่งตามวัตถุประสงค์การสร้างนั้น แม้สร้างเสร็จมาแล้วอายุกว่า ๒๕ ปีแต่ยังมีบางชั้นที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่เป็นสาระสำคัญตามเจตนารมณ์ของอดีตเจ้าอาวาสผู้ดำริสร้างแต่อย่างใด จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนในฐานะเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันที่จักต้องสืบสาน รักษา และต่อยอด ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านต่อไป

วัตถุประสงค์หลักในการสร้างเพื่อให้วัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์แล้วเพราะปัจจุบันนี้ วัดเหนือ หรือวัดหนองแวง พระอารามหลวง ได้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเมืองขอนแก่น เพราะความงดงามอ่อนช้อยของรูปทรงพระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชนฯ ซึ่งมีรูปลักษณ์เจดีย์ทรงแตกแหของชาวอีสาน เป็นพุทธนวัตกรรมที่ทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมที่สวยงาม ต้องตา ต้องใจ ของผู้คนที่ผ่านมาเมืองขอนแก่นต้องแวะเวียนมากราบนมัสการ และปิดทองหลวงพ่อ “พุทธมหาจักรแก่นนคร” หรือ “หลวงพ่อวัดเหนือ” ที่เป็นพระประจำพระอุโบสถวัดเหนือ และเป็นพระพุทธรูปคู่บารมีเจ้าอาวาสรูปที่ ๙ สืบเนื่องจากยุคเริ่มต้นการพัฒนาวัดเหนือจากปีพ.ศ.๒๕๑๕ นั้นมีการสร้างพระบูชาเพื่อหาทุนพัฒนาวัดที่ประกอบพิธีเททองพระในช่วงเวลาที่ดาวอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ และดาวราหู โคจรได้องศาของฤกษ์ดาว “มหาจักร”และสร้างที่เมืองขอนแก่น จึงให้ชื่อพระบูชานี้ว่า “พุทธมหาจักรแก่นนคร” ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า และการถือฤกษ์ดาวมหาจักร ซึ่งมีความหมายว่า “ความยิ่งใหญ่แห่งจักร” ทำให้วัดเหนือ หรือวัดหนองแวง ได้มีทุนพัฒนาวัดเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นมาตามลำดับจนเป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง ปีพ.ศ.๒๕๒๔” เป็น “วัดพัฒนาดีเด่น ปีพ.ศ.๒๕๒๖” และยกขึ้นเป็น “วัดพระอารามหลวง ปีพ.ศ.๒๕๒๗” ซึ่งจากนั้นมาอีก ๕ ปีพ.ศ.๒๕๓๓ ก็มีการสร้างพระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชนฯ จนแล้วเสร็จฉลอง ๒๐๐ ปีเมืองขอนแก่น ในปีพ.ศ.๒๕๔๐ จนปัจจุบันวัดเหนือได้กลายเป็น Land mark สำคัญของจังหวัดขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม แม้วัดเหนือ หรือวัดหนองแวง พระอารามหลวง จะมีความโดดเด่น เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่นแล้ว เพราะความงดงาม อ่อนช้อย อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชนฯ ก็ตามแต่ยังจักต้องมีการพัฒนาต่อยอดภายในวัดให้สะอาด สว่าง สงบ จนกลายเป็นศูนย์กลางนาบุญของชาวพุทธทั่วโลกในอีกสองทศวรรษ อันจักเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มเวลาให้กับนักท่องเที่ยวที่มาจากทุกประเทศทั่วโลกเพื่อมาชื่นชมความงามของศิลปะไทยด้วยความสุข เช่น พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (พระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ ๑๘) และพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงญาณสังวรณ์ (พระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ ๑๙) รวมถึงพระอุโบสถของวัดเหนืออันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาจักรแก่นนคร องค์ปฐมฤกษ์ที่สร้างพระบูชา พร้อมทั้งบริเวณพื้นที่ต่างๆ ของวัด เช่น บริเวณโดยรอบพระมหาธาตุแก่นนครฯ บริเวณฌาปนสถาน สถานที่จอดรถ พระอุโบสถเล็ก บริเวณลานสวนมะพร้าว ให้สอดรับกับโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขด้วย ๕ส ของฝ่ายสาธารณูปการ มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะกับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับแนวหน้าของจังหวัดต่อไป

นอกจากนั้น ภารกิจอันยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งของเจ้าอาวาสวัดเหนือรูปปัจจุบัน จักต้องสร้างภาคีเครือข่ายด้วยการร่วมมือกับวัดกลาง และวัดใต้ หรือวัดธาตุ พระอารามหลวง ซึ่งเป็นวัดที่ท้าวเพีย เมืองแพน เจ้าเมืองขอนแก่นได้สร้างขึ้นพร้อมกันตั้งแต่การสร้างเมืองขอนแก่นครั้งแรก ในปีพ.ศ.๒๓๓๒ และวัดใน หรือวัดศรีนวล วัดโพธิ์บ้านโนนทัน และวัดบ้านตูม ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่รอบบึงบอน หรือบึงแก่นนคร รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการสร้างนวัตวิถีอีสานรอบบึงบอนร่วมกัน เพื่อสร้างกิจกรรมต่างๆ อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่นให้เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมแล้วอีกด้วย

ดังนั้น ภาพสำเร็จการพัฒนาวัดเหนือ หรือวัดหนองแวง ในอีกสองทศวรรษหน้า วัดจักต้องมีภูมิทัศน์ที่สะอาด สว่าง สงบ สวยงาม เป็นสถานที่รองรับการใช้ประโยชน์ของชุมชน พร้อมทั้งตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่วางอยู่บนพื้นฐานการใช้ศิลปวัฒนธรรมอีสานมาขับเคลื่อนให้ได้อย่างสมสมัย โดยอาศัยชุมชนเมืองเก่าชาวคุ้มเหนือ คุ้มกลาง และคุ้มใต้ ร่วมพลังบูรณาการให้สถานที่เกิดเป็นนวัตวิถีอีสานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แล้วพระพุทธศาสนาก็จะมั่นคง สาธุชนในชุมชนก็จะมีความสุขอย่างมั่งคั่ง และทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนก็จักเกิดความยั่งยืนตลอดไป

องค์พระพุทธมหาจักรแก่นนครและวัตถุมงคลที่จัดสร้างในปีพ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นมรดกและอนุสรณ์แห่งความศรัทธาของสาธุชนในยุคนั้น ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง

 พระบูชาพระพุทธมหาจักรแก่นนคร

                                                       

ขนาด ๕ นิ้ว

                                    

ขนาด ๙ นิ้ว


พระกริ่งพุทธมหาจักรแก่นนคร

                                 

                                 

                                 

                                 

                       

                                           

                                           


เหรียญพระลีลาพุทธมหาจักรแก่นนคร

         


พระปรกใบมะขามพุทธมหาจักรแก่นนคร


เหรียญมหามงคล ๘๔ ปี


พระพุทธมหาจักรแก่นนคร (หลวงพ่อวัดเหนือ) พระพุทธรูปองค์อัศจรรย์บันดาลวัด ในโอกาสครบ๕ ทศวรรษ
วัดหนองแวง พระอารามหลวง (วัดเหนือ)

             หลังจากอดีดพระมหาคูณ ขนฺติโก (สมณศักดิ์ล่าสุด-พระธรรมวิ สุทธาจารย์) ได้เรียกชุมนุมโหราจารย์เพื่อผูกดวงสร้างพระบูชาขึ้นในช่วงเวลาที่มีดาวฤกษ์มหาจักรโคจรมาชุมนุมกันในปีพ.ศ. ๒๕๑๔เพื่อสร้างพระพุทธรูปคู่บารมีของท่านโดยให้ชื่อว่า “พุทธมหาจักรแก่นนคร” แล้วประกอบพิธีเททองปลุกเศกที่มีการจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่มากในสมัยนั้น #โดยนิมนต์พระมหาเถราจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จากทั่วประเทศ มานั่งปรกปลุกเศก จนแล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๕๑๕ อันเป็นปีเริ่มต้นการพัฒนาวัดหนองแวง (วัดเหนือ)

พระพุทธมหาจักรแก่นนคร (หรือ หลวงพ่อวัดเหนือที่ศิษยานุศิษย์เรียกขานในปัจจุบัน) จึงเป็นพระคู่บารมีในการพัฒนาวัดเหนือจนได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นวัดหลวง ปีพ.ศ. ๒๕๒๗ และเป็นแลนด์มาร์คของเมืองขอนแก่น ที่ใครก็ตามเมื่อมาถึงขอนแก่นแล้วต้องมานมัสการพระมหาธาตุแก่นนครฯ อันเป็นผลดลบันดาลของหลวงพ่อวัดเหนือ นี้อย่างอัศจรรย์

จนล่วงเวลามาถึงปีพ.ศ. ๒๕๖๕ หลวงพ่อวัดเหนือมีอายุได้ ๕๐ ปี คณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกาวัดเหนือ และประธานชุมชนคุ้มเหนือ หรือชุมชนหนองแวงเมืองเก่าทั้ง ๔ ชุมชน ได้อัญเชิญหลวงพ่อวัดเหนือออกจากที่ประทับให้สาธุชนได้  “ฮดสรง” และขึ้นรถ “แห่แหน” ไปตามชุมชนคุ้มเหนือทั้ง ๔ ชุมชน แล้วไหลไปยังคุ้มกลาง และคุ้มใต้ในวันทำบุญรวมญาติและวันไหลในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปีพ.ศ. ๒๕๖๕ ของวัดเหนือ

จากปีที่ครบ ๕ ทศวรรษนี้เป็นต้นไป สาธุชนชาววัดเหนือทั้งในและนอกประเทศ ต้องรู้จักและกราบสักการะ “พระพุทธมหาจักรแก่นนคร” หรือ “หลวงพ่อวัดเหนือ” เพื่อเป็นสรรพสิริมงคล จักเกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและวงศ์ตระกูลยิ่งๆ ขึ้นไป #เหมือนกับที่ท่านได้ดลบันดาลวัดเหนือให้เป็นวัดที่เจริญยิ่งกว่าอย่างอัศจรรย์ มาแล้วสืบไป

คลิกเพื่อนำทาง