วัดมหาพุทธาราม

ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

Wat Mahaphuttharam Mueang Nuea SubDistrict, Mueang Sisaket District, Sisaket Province

ประชาสัมพันธ์
facebook

ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี จำนวน ๒๕๖๕ กอง
กองละ ๔๙๙ บาท เพื่อก่อสร้างศาลาหอฉัน

ความเป็นมา

วัดมหาพุทธาราม เป็นวัดพระอารามหลวงที่มีอาณาเขตกว้างขวาง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยเมืองศรีนครเขต ปัจจุบันมหาเถรสมาคม ประกาศให้วัดมหาพุทธาราม เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดศรีสะเกษ แห่งที่ ๑/๒๕๔๙ อันแสดงว่าวัดมหาพุทธาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวพุทธทั้งหลาย เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การศึกษาสงเคราะห์ การสาธารณูปการ

และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ ตั้งแต่อดีตสืบทอดมาจนปัจจุบัน นอกจากนั้น วัดมหาพุทธาราม ยังเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญของคณะสงฆ์ และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมืองและ ข้าหลวงในอดีต และข้าราชการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ตลอดมากระทั่งบัดนี้

วัดมหาพุทธาราม เป็นวัดโบราณมีอายุเก่าแก่ เดิมทีเดียวชาวบ้าน เรียกชื่อว่า วัดป่าแดง  สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยเมืองศรีนครเขต ซึ่งตรงกับสมัยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร เจ้าผู้ครองนครจำปาสัก (ซึ่งในอดีตมีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณพื้นที่อีสานตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ในปัจจุบัน)  สมัยนั้นมีเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระมหาสมณะยอดแก้ว (เทียบพระสังฆราช) หรือสมญานามว่า “ญาครูขี้หอม” เป็นพระมหาเถระผู้ทรงวิทยาคุณและเป็นหลักชัยแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเจ้าผู้ครองนครจำปาสัก ข้าราชบริพาร ประชาชนชาวเมืองจำปาสักและเมืองเวียงจันทน์ ต่างให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง  เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กได้ส่งศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งล้วนผ่านการบวชเรียนมาแล้วไปตั้งบ้านแปงเมืองในที่ต่าง ๆ โดยให้จารย์เชียงแห่งบ้านโนนสามขา เป็นผู้ตั้งเมืองศรีนครเขต (ศรีสะเกษ) และสร้างวัดป่าแดง ในปี พ.ศ. ๒๒๔๕ โดยบริเวณที่สร้างวัดเป็นป่าไม้แดง จึงได้ชื่อว่า “วัดป่าแดง” ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๕๓ เป็นต้นไป

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๔ คณะสงฆ์ไทยได้แยกการปกครองออกเป็นคณะธรรมยุต กับคณะมหานิกาย ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองศรีสะเกษ ได้เปลี่ยนเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระชินวงศาจารย์ปกครองเฉพาะคณะธรรมยุต เปลี่ยนชื่อตำแหน่งว่า “เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดศรีสะเกษ” ในช่วงนี้ได้มีการเสนอเปลี่ยนชื่อวัดพระโตใหม่ เป็นชื่อ “วัดมหาพุทธาราม” เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน โดยนำเอานามวัดพระโต ที่แปลว่า วัดพระใหญ่ ไปแปลกลับเป็นภาษาบาลี ซึ่งแยกคำดังนี้ มหา แปลว่า โต, พุทธ แปลว่า พระ, อาราม แปลว่า วัด เมื่อนำคำทั้งหมดมารวมกัน ก็จะเป็น วัดมหาพุทธาราม แปลว่า วัดพระโต หรือ วัดพระใหญ่ ซึ่งก็คือนามเดิมของวัดนั่นเอง

ปูชนียวัตถุสำคัญ

หลวงพ่อโต  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวศรีสะเกษ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ มีความสูงจากฐานถึงยอดเกศ ๖.๘๕ เมตร หน้าตักกว้าง ๓.๕๐ เมตร เดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาจำหลัก สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยขอมซึ่งมีอายุร่วมพันปีมาแล้ว แต่มาสร้างเพิ่มเติมขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด ปัจจุบันประดิษฐานในวิหาร