ข่าวประชาสัมพันธ์

ขอเชิญร่วมทำบุญครบรอบมรณภาพ ๙ ปีหลวงพ่อพระครูปิยรัตนาภรณ์ (หลวงพ่อบุญรัตน์ กนฺตจาโร)
วันอาทิตย์ ที่ ๘ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

วัดโขงขาว

สถานที่ตั้ง วัดโขงขาว ตั้งอยู่เลขที่ 4 ๗๑ บ้านโขงขาว หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ติดถนนเลียบคลองชลประทาน

ประวัติวัดโขงขาว
ในอดีตตามตำนาน ที่ผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นปู่ย่าตาทวดได้เล่าให้บุตรหลานสืบต่อๆกันมาว่า วัดโขงขาวนี้พร้อมทั้งศาสนวัตถุมีวิหารเป็นต้น ได้ก่อสร้างขึ้นมาครั้งสมัยเมื่อพระนางเจ้าจามเทวีได้เสด็จมาสร้างเจดีย์พระธาตุดอยคำ ขณะเดียวกันก็มีพระราชศรัทธาสร้างวิหารวัดโขงขาวถวายเป็นพุทธบูชา กาลเวลาผ่านไป พระวิหารก็ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาตามธรรมชาติ พระเถราจารย์ผู้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อๆมาหลายต่อหลายรูปหลายชั่วอายุก็ได้ทำการปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงสืบต่อๆกันมา ถึงสมัยครูบานันทะเถระ, ครูบาพรหม, ครูบาโปธา, ครูบาคำ, จนกระทั่งมาถึงพระอธิการอินตา ภายหลังพระอธิการอินตาได้ลาสิกขาบท ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง เจ้าคณะตำบลคณะสงฆ์และคณะศรัทธาเสนอเจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งให้พระครูปิยรัตนาภรณ์(บุญรัตน์ กนุตจาโร) เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา พระครูปิยรัตนาภรณ์ หลังจากรับตราตั้งเจ้าอาวาสแล้ว ก็ได้มาพิจารณาถึงศาสนวัตถุของวัด ก็เห็นว่าวิหารของวัดซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประกอบศาสนกิจบำเพ็ญกุศลเป็นสถานที่มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งของชาวเหนือได้ปรักหักพังชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุที่สร้างมานมนาน จึงนำเรื่องปรึกษากับศรัทธาญาติโยมผู้อุปถัมภ์วัด ตลอดญาติโยมคณะศิษย์จากกรุงเทพฯ ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รื้อถอนแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ทดแทน ฉะนั้นในวันพฤหัสบดี ที่ ๙มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ปีมะเมีย อัฏฐศก จ.ศ. ๑๓๒๘ เดือน ๙ เหนือแรม 5 คำ ได้ฤกษ์ในการสร้างวิหาร เมื่อเสร็จเรียบร้อยในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๔ ปีจอ โทศก จ.ศ. ๑๓๓๒ เป็นเดือน ๖ เป็งของชาวเหนือ ได้นิมนต์พระสังฆเถราจารย์จำนวน ๕๐ รูป มาสมโภชฉลองวิหารตามจารีตประเพณีชาวเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระ(หลวงพ่อฤาษีฯ) วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ได้นำคณะลูกหลานพุทธบริษัทจัดงานทอดกฐินสามัคคีครั้งแรกที่วัดโขงขาว เพื่ออุปถัมภ์ในการก่อสร้างศาสนวัตถุของวัด สิ่งใดที่มีอยู่เห็นควรปฏิสังขรณ์ก็ปรับเปลี่ยนซ่อมแซม สิ่งไหนยังขาดตกบกพร่องก็ช่วยเหลือในการก่อสร้าง เช่นการซื้อที่ดินขยายบริเวณวัด การก่อกำแพงด้วยศิลาแลงแสดงอาณาเขตวัดทั้ง ๔ ด้าน ก่อเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม ตลอดถึงเสนาสนะต่างๆ เป็นต้น และหลังจากนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ก็ได้นำคณะลูกหลานพุทธบริษัทมาทอดกฐินเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งมรณภาพและในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ นี้เอง จุลศักราช ๑๓๔๓ ปีล้วงเล้าเดือน ๕ ขึ้น ๑ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ปีระกา ตรีศก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา ทางวัดโขงขาวมีพระครูปิยรัตนาภรณ์พร้อมทั้งคณะศิษย์และคณะศรัทธาญาติโยมของวัดตลอดทั้งทางกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วจึงได้พร้อมใจกันเป็นเอกฉันท์ ก่อสร้างโรงอุโบสถขึ้น มีขนาดกว้าง ๑๔ ศอก ยาว ๓๕ ศอก ทรงล้านนาปูหินอ่อน สร้างศาลาล้อมโรงอุโบสถเมื่อการก่อสร้างเรียบร้อยแล้วในปีกุน สัปตศก จ.ศ. ๑๓๕๗ พ.ศ. ๒๕๓๘ พระครูปิยรัตนาภรณ์พร้อมทั้งคณะศิษย์และศรัทธาญาติโยมจึงได้อาราธนาพระเถรานุเถระจำนวน ๒๕๐ รูป มีเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะภาค ๗ วัดปากน้ำ กรุงเทพฯ เจ้าคณะจังหวัดฯเป็นประธานดำเนินงานประกอบพิธีสวดถอนสีมา ต่อมาในปีชวดอัฏฐศก ชาวเหนือเรียกขานว่า”เมืองเป้า” จุลศักราชได้๑๓๕๙ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นปีที่จังหวัดเชียงใหม่มีอายุครบ ๗๐๐ ปีบริบูรณ์ ทางพระครูปิยรัตนาภรณ์พร้อมทั้งศิษย์และศรัทธาได้อาราธนาพระสงฆ์จำนวน ๕๐ รูป มีเจ้าคณะใหญ่หนเหนือเจ้าคณะภาค ๗ วัดปากน้ำ กรุงเทพฯ และเจ้าคณะจังหวัดฯเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสประกอบพิธีตัดลูกนิมิต ทักนิมิต สวดญัติติสมมุติสีมา ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เวลา ๑๔.00 น. เป็นการร่วมเฉลิมฉลอง ๗๐๐ ปีของเชียงใหม่ฯท่านพระครูปิยรัตนาภรณ์ก็ได้ดูแลรักษาวัดโขงขาวให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนกระทั่งท่านฯได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๕ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖สิริอายุ ๖๕ ปี พรรษา ๔๕

หลังจากนั้นเจ้าคณะตำบล คณะสงฆ์และศรัทธาผู้อุปถัมภ์วัดจึงได้เสนอให้เจ้าคณะจังหวัดฯแต่งตั้งให้พระครูปลัดจู วชิรเมธี เป็นเจ้าอาวาส จนมาถึงปัจจุบัน
รายนามเจ้าอาวาส (เท่าที่มีชื่อปรากฏ)
๑. ครูบานันทะเถระ
๒. ครูบาพรหม
๓ ครูบาโปธา
๔. ครูบาคำ โสภโณ
๕. พระอธิการอินตา
๖. พระครูปิยรัตนาภรณ์ (บุญรัตน์ กนุตจาโร) พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๕๖
๗. พระครูปลัดจู วชิรเมธี พ.ศ. ๒๕๕๖-ปัจจุบัน
สถานที่สำคัญภายในวัด
วัดโขงขาวมีสถานที่สวยงาม สะอาดเรียบร้อย ร่มรื่น กว้างขวางเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติธรรมหรือพักผ่อนหย่อนใจ มีศาสนสถานที่สำคัญ เช่น
๑. อุโบสถทรงล้านนาปูหินอ่อน และศาลารายล้อมประดิษฐานพระชำระหนี้สงฆ์
๒. พระเจดีย์ปิดทอง (สร้างครอบเจดีย์องค์เดิม)
๓. วิหารทรงล้านนาประดิษฐานพระพุทธมหาจักรพรรดิ
๔. ศาลาการเปรียญ ๒ ชั้นทรงไทย สำหรับประกอบศาสนพิธี
๕. รูปหล่อหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีฯ) หลังอุโบสถ
๖. ศาลครูบานันทะเถระ
๗. สถูปบรรจุอัฐิพระครูปิยรัตนาภรณ์ เป็นต้น