คลิ๊กเพื่ออ่าน พิธีถวายผ้าไตรจีวร ถุงย่ามแก่สามเณรนักเรียน ณ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวหาร 7-10-64

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

Wat Phra Bat Ming Muang Worawihan
Nai Wiang Subdistrict, Mueang Phrae District, Phrae Province

ความเป็นมา

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖ ถนนเจริญเมือง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของศาลากลางจังหวัด เป็นวัดที่เกิดจากการรวมตัว ๒ วัด คือ วัดพระบาทกับวัดมิ่งเมือง เป็นวัดพระบาทมิ่งเมือง ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะจากวัดราษฎร์ให้เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

การรวมตัววัดพระบาท กับวัดมิ่งเมือง เป็นวัดพระบาทมิ่งเมือง

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๐ วัดพระบาท กับวัดมิ่งเมือง อยู่ห่างกันเพียงมีตรอกคั่น เจ้าอาวาสทั้ง ๒ วัดได้ปรึกษากับเจ้าตุ่น วังซ้าย ซึ่งเป็นศรัทธาต้น ( ศรัทธาเก๊า ) ของวัดมิ่งเมืองว่าจะจัดงานกิ๋นสลากที่วัดมิ่งเมือง แต่วัดมิ่งเมืองคับแคบ จึงได้ตกลงที่จะทุบกำแพงรวมวัดทั้งสองเข้าด้วยกัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ พระปริยัติวงศาจารย์ ได้ทำหนังสือขออนุญาตสังฆมนตรี ให้รวมวัด ให้รวมวัดพระบาทกับวัดมิ่งเมืองเป็นวัดเดียวกัน เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรวมวัดพระบาทกับวัดมิ่งเมืองเข้าด้วยกัน เป็นวัดพระบาทมิ่งเมือง มีฐานะเป็นวัดราษฎร์

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศว่า วัดพระบาทมิ่งเมือง ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะจากวัดราษฎร์ ให้เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ

พระบรมสารีริกธาตุ หลวงพ่อพระพุทธโกศัยสิริชัยมหาศากยมุนี ( พระคู่บ้านคู่เมืองแพร่ ) หลวงพ่อพระพุทธมิ่งขวัญเมือง พระเจดีย์มิ่งเมืองและมณฑปรอยพระพุทธบาท เป็นต้น 

ประวัติรอยพระพุทธบาท

สมัยครั้งพระพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดเวไนยสัตว์แล้วได้เสด็จลงมายังเมืองพลนครหรือนครพล และได้มาประทับพักพระอิริยาบถ ณ ปากถ้ำพญานาคซึ่งมีลมออกจากปากถ้ำแรง จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ปากถ้ำสถานที่ดังกล่าวก็คือ วัดพระพุทธบาทต่อมาเจ้ามหาอุปราช ได้สร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาท ๔ รอย จากนั้นปากถ้ำก็ถูกปิดทันที 

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ พระยาบุรีรัตน์ ( หนู มหายศปัญญา ) หรือเจ้าบุรีรัตน์ได้สร้างวิหารพระบาทต่อมาเนื่องจากวิหารพระพุทธบาทหลังเดิมชำรุดตามธรรมชาติที่สร้างมานาน ทางวัดจึงรื้อแล้วสร้างเป็นรูปมณฑปหลังคาเทคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖

รายนามเจ้าอาวาสวัดพระบาทเท่าที่สืบได้ มี ๔ รูป คือ

  1. พระครูพุทธวงศาจารย์ ( ทองคำ พุทฺธวํโส ) พ.ศ. ๒๔๑๐ – พ.ศ. ๒๔๕๕
  2. พระปลัดคันธะ คนฺธวิชโย พ.ศ. ๒๔๕๕ – พ.ศ. ๒๔๖๔
  3. พระอธิการคำลือ กญฺจโน พ.ศ. ๒๔๖๔ – พ.ศ. ๒๔๗๔
  4. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( ฟู อตฺตสิโว ) พ.ศ. ๒๔๗๔ – พ.ศ. ๒๔๙๒

เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองเท่าที่สืบได้ มี ๔ รูป คือ

  1. ครูบามณีวรรณ พ.ศ. ๒๓๖๕ – พ.ศ. ๒๓๘๗
  2. ครูบาวงษ์ พ.ศ. ๒๓๘๗ – พ.ศ. ๒๔๒๐
  3. ครูบาไชยลังการ์ พ.ศ. ๒๔๒๐ – พ.ศ. ๒๔๖๒
  4. พระครูมหาญาณสิทธิ์ ( โท้ กญฺจโน ) พ.ศ. ๒๔๖๒ – พ.ศ. ๒๔๘๘
  5. พระมหาโพธิวงศาจารย์ ( สุจี กตสาโร ) พ.ศ. ๒๔๙๐ – พ.ศ. ๒๔๙๑

เจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมือง มี ๑ รูป คือ

  1. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( ฟู อตฺตสิโว ) พ.ศ. ๒๔๙๒ – พ.ศ. ๒๔๙๘

เจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร มี ๓ รูป คือ

  1. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว) พ.ศ. ๒๔๙๘ – พ.ศ. ๒๕๑๘
  2. พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สุจี กตสาโร) พ.ศ. ๒๕๑๘  – พ.ศ. ๒๕๕๔
  3. พระราชเขมากร (ประยุทธ ภูริทตฺโต) พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงปัจจุบัน

ประวัติอดีตเจ้าอาวาส

ชื่อ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สุจี กตสาโร) อายุ ๙๕ พรรษา ๗๕ น.ธ.เอก ป.ธ.๓ , พธ.ด.กิตติมศักดิ์ , ค.ด.กิตติมศักดิ์ , ปร.ด.กิตติมศักดิ์ สถานะเดิม ชื่อ สุจี นามสกุล ขรวงค์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ปีมะเส็ง เกิดที่บ้านทุ่งอ่วน หมู่ที่ ๖ ตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บรรพชาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ณ วัดกาญจนาราม อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดกาญจนาราม 

เคยดำรงตำแหน่ง

  1. เจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร พระอารามหลวง
  2. ที่ปรึกษาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
  3. ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖
  4. รองเจ้าคณะภาค ๖
  5. เจ้าคณะจังหวัดแพร่
  6. พระอุปัชฌาย์ 
  7. ผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
  8. ผู้จัดการโรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา จังหวัดแพร่
  9. ประธานสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  10. รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

ประวัติพระธาตุมิ่งเมือง

พระธาตุมิ่งเมือง เป็นพระธาตุโบราณ สร้างมานาน เสมือนเป็นเครื่องหมายใจกลางเมือง จึงเรียกว่าพระธาตุมิ่งเมือง ไม่มีประวัติที่จะให้ค้นคว้าหาหลักฐาน แต่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน พระธาตุองค์นี้ฐานยกพื้นลง ๓ ศอก ฐานองค์พระธาตุบนฐานยกพื้น ๒ ศอก เป็นฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๓ วา ๒ ศอก องค์พระธาตุ ๕ เหลี่ยมตั้งบนฐานสูง ๗ วา ๒ ศอก นับแต่พื้นดินถึงยอดพระธาตุสูง ๘ วา ๑ ศอก

พระราชเขมากร ( ประยุทธ ภูริทตฺโต )

เจ้าคณะจังหวัดแพร่ / เจ้าอาวาสวัด