เส้นทางบุญในมิติศาสนาและศิลปวัฒนธรรม จังหวัดบึงกาฬ



วัดโพธาราม ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

Wat Photharam Bueng Kan Subdistrict, Mueang Bueng Kan District, Bueng Kan Province

ความเป็นมา วัดโพธาราม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๙ บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ ๕ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๒ งาน วัดโพธาราม สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ ชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านท่าไคร้ เดิมชื่อวัดโพธิ์ศรี ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดโพธาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

ปูชนียวัตถุสำคัญ ๑. พระพุทธรูปพระประธาน หน้าตักกว้าง ๑.๖๐ เมตร สูง ๒.๑๐ เมตร  สร้างด้วยอิฐถือปูน ๒. หลวงพ่อพระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปฉาบปูนศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อใหญ่วัดบ้านท่าไคร้ หน้าตักกว้าง ๒ เมตร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำวางทับพระชานุนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๕ เหยียดลงอย่างมีระเบียบ เหมือนพระพุทธรูปทั่วไปประดิษฐานบนแท่นสี่เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ อาคารเสนาสนะ ๑. อุโบส ๒. ศาลาการเปรียญ ๓. ศาลาหน้าโบสถ์ ๔. มณฑป ๕. โรงเรือกำปั่นและเรือยาว ๖. โรงจอดรถ ๗. กุฏิสงฆ์ ๘. อาคารห้องแถว

 คำขวัญวัดโพธาราม นมัสการทรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ น้ำจั้นไหล ต้นไคร้งาม เลื่องลือนามเรือกำปั่น มหัศจรรย์ต้นจำปา บูชาบุญข้าวจี่ ประเพณีถวายปราสาทผึ้ง  พระอธิการเอกชัย กตปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดโพธาราม

วัดป่าบ้านพันลำ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

Wat Pa Ban Phan Lam Wisit Subdistrict, Mueang Bueng Kan District, Bueng Kan Province

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พื้นที่โดยรอบเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่นานาชนิด มีความร่มรื่นและเงียบสงบเป็นอย่างมาก บริเวณที่ตั้งวัดป่าพันลำแต่เดิมเป็นป่าสาธารณะประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารและทำเลเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านพันลำ ต่อมาใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของคณะสงฆ์ในอำเภอบึงกาฬ ใช้จัดงานอยู่ปริวาสของพระสงฆ์ และต่อมา  พระอาจารย์สมบัติ สัมปัตติธารโก เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้มาอยู่จำพรรษา และได้จัดให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมธรรมะแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดทั้งญาติโยมพุทธบริษัทในจังหวัดบึงกาฬ จึงมีการพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นวัดป่าบ้านพันลำเช่นในปัจจุบัน ภายในวัดมี “หลวงพ่อศิลา” พระพุทธรูปปางประทานพร แกะสลักจากหิน หน้าตักขนาด ๔๐ นิ้ว ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง มีหลักธรรมคำสอนติดเป็นคติเตือนใจอยู่โดยรอบวัด

วัดสุดเขตแดนสยาม ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

Wat Sud Khet Dan Siam Wisit Subdistrict, Mueang Bueng Kan District, Bueng Kan Province

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พื้นที่รอบวัดรายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ มีความสงบ ร่มรื่น เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย สายหลวงปู่มั่น ภูริทตโต แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ซึ่งชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้บริจาคที่ดินให้ และชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นวัดสุดเขตแดนสยาม มีพระครูประภัสสรวีรคุณ (วีระพล ปภสฺสโร) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระอาจารย์ลาย เจ้าคณะอำเภอศรีวิไล เป็นเจ้าอาวาสในปัจจุบัน ภายในวัดมีวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน ซึ่งวิหารหลังนี้ประยุกต์งานศิลปกรรมแบบร่วมสมัยได้อย่างลงตัว โดยตกแต่งเพดานด้วยไม้และเสาภายในประดับด้วยกระจกเงา อีกทั้งยังมีอุโบสถสีขาวที่มีความวิจิตรงดงาม ภายในประดิษฐานหลวงพ่อพระเงิน และได้มีการประกอบพิธียกฉัตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑
 
 
 
 
เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดป่าเลไลย สร้างขึ้นโดยหลวงปู่ลุน (พระครูสีลสารคุณ) บรมครูธรรมแห่งอีสาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ท่านเจ้าคุณนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อมหาสมาน สิริปัญโญ) ได้ทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้สวยงามมากขึ้น และปรับสภาพภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสวยงาม ร่มรื่น และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดอาฮงศิลาวาส” เนื่องจากอยู่ใกล้กับแก่งอาฮง ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง หรือ “สะดือแม่น้ำโขง” และมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นเมืองหลวงของเหล่าพญานาค ภายในวัดมีพระอุโบสถทรงไทยประยุกต์ ประดิษฐานพระพุทธคุวานันท์ศาสดา พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช พระธาตุเจดีย์ศรีอาฮง และอุทยานหิน ซึ่งมีหินตามธรรมชาติขนาดใหญ่ รูปร่างแตกต่างกัน ตั้งเรียงรายอยู่ให้ได้ศึกษาธรรมชาติอีกด้วย

วัดสว่างอารมณ์ (วัดถ้ำศรีธน) ตำบลโนนศิลา อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ

Wat Sawang Arom (Wat Tham Si Thon) Non Sila Subdistrict, Pak Khat District, Bueng Kan Province

ตั้งอยู่บริเวณเนินเขา ภายในบริเวณวัดมีความสวยงามและมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีโขดหิน หน้าผา ลานหิน มี ต้นไม้ปกคลุมโดยทั่วไปเป็นที่ร่มรื่น มีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านในบริเวณวัด มีรอยพระพุทธบาทจำลอง มีรูปปั้นของท้าวศรีธน บริเวณโขดหินขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะเหมือนถูกฟันด้วยดาบ จึงเรียกบริเวณนั้นว่า ท้าวศรีธนลองดาบ มีถ้ำจำลองซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมภายในถ้ำได้ มีพระอุโบสถทรงระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนเนินสูงภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ถ้าหากขึ้นไปสู่บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถแล้ว จะสามารถมองเห็น ทิวทัศน์รอบด้านทั้งทางฝั่งไทยและฝั่งลาวสวยงามยิ่งนัก วัดสว่างอารมณ์ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของ อ.ปากคาดมีความสัมพันธ์กับชุมชนสูง โดยชุมชนจะมีการจัดงานประจำขึ้นทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ และออกพรรษาโดยจะมีคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวเข้ารวมงานเป็นจำนวนมาก
ลักษณะเด่น
-ชมสัญลักษณ์ อ.ปากคาด -รอยพระพุทธบาทจำลอง -ท้าวศรีธนลองดา
 

วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ

Wat Chetiya Khiri Wihan (Wat Phu Thok) Na Saeng Subdistrict, Si Wilai District, Bueng Kan Province

พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยท่านเห็นว่าเป็นสถานที่ที่มีลักษณะภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม จุดเด่นของวัดภูทอกคือบันไดและสะพานไม้เดินชมทัศนียภาพแบบ ๓๖๐ องศา มีทั้งหมด ๗ ชั้น ใช้แรงงานฝีมือของชาวบ้านในการก่อสร้าง โดยไม่ใช้เครื่องจักรกลใด ๆ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์พิพิธภัณฑ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุและเครื่องอัฐบริขาร บอกเล่าเรื่องราวประวัติของพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ
กดเพื่อนำทาง

วัดเซกาเจติยาราม (พระอารามหลวง) ตำบลเซกา อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ

Wat Segajetiyaram  (Phra Aram Luang) Seka Subdistrict, Seka District, Bueng Kan Province

เดิมชื่อ วัดบ้านเซกา ได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยพระครูสันติปัญญาภรณ์ ได้มาก่อสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดบ้านเซกาเป็นชื่อวัดเซกาเจติยาราม เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.  ๒๕๕๒ ปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดพระอารามหลวงประจำจังหวัดบึงกาฬ สิ่งสำคัญในศาสนสถาน – พระเจ้ามูลเมืองเซกา ประดิษฐานในอุโบสถ – ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา บรมราชินีนาถ – พระธาตุกตัญญูบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิจกรรมที่ดำเนินการ – ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ – จัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน และจัดกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วัดสิงหารินทาราม ตำบลท่าดอกคำ อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ

Wat Singharintharam Tha Dok Kham Subdistrict, Bueng Khong Long District, Bueng Kan Province

เป็นวัดที่มีความร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยหลวงปู่คำสิงห์ สุภทฺโท หรือพระครูภาวนานุศิษฎร์ เป็นพระมหาเถระวิปัสสนาจารย์ที่มีปฏิทาในการปฏิบัติกรรมฐาน และเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชน เมื่อหลวงปู่มรณภาพ พระครูปัญญาสารโกศล เจ้าอาวาสรูปต่อมา พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ จึงได้สร้างพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิและอัฏฐบริขารของหลวงปู่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกและสักการบูชาต่อไป นอกจากนี้ยังมีพระธาตุบรรจุพระอรหันธาตุ (พระสีวลี) องค์ขนาดเท่าไขไก่ ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาได้นำมาถวายหลวงปู่คำสิงห์ ท่านจึงสร้างพระธาตุเพื่อบรรจุพระสีวลีและวัตถุมงคลต่าง ๆ

พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย   จังหวัดบึงกาฬ

living community museum Nong Phantha Subdistrict, So Phisai District, Bueng Kan Province

เป็นพื้นที่ที่รวบรวมวัฒนธรรมของคนไทยพื้นถิ่น โดยการเอาทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนชาวโซ่พิสัยมาออกแบบและพัฒนาให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ประยุกต์แนวคิดทางศิลปะร่วมสมัยให้เข้ากับความเชื่อและวิถีชีวิตของชุมชนและสะท้อนออกมาภายใต้บริบทธรรมะ ธรรมชาติและธรรมดา มีงานสตรีทอาร์ตที่โดดเด่น เป็นภาพวาดบนกำแพงหรือกราฟฟิตี้รูปพญานาครอบหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่  เป็นผลงานของนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันที่มาร่วมแรงกันวาดภาพลงบนฝาเรือน กำแพง ฉากสังกะสี สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่